ธาลัสซีเมีย
ธาลัสซีเมีย โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

 

โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) คือ โรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีน ทำให้กระบวนการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางเรื้อรังตั้งแต่กำเนิดไปจนตลอดชีวิต ฉะนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค จะช่วยให้เราสามารถดูแลผู้ป่วยโรคนี้ได้อย่างเหมาะสม 

 

 

สาเหตุของโรคธาลัสซีเมีย

 

โรคธาลัสซีเมียสามารถถ่ายทอดได้จากพันธุกรรม ซึ่งแบ่งตัวอย่างสาเหตุออกได้ ดังนี้ 

 

  • บิดา และมารดาที่มียีนธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นยีนเด่นทั้งคู่ บุตรที่เกิดมาจะเป็นโรคธาลัสซีเมีย

 

  • หากทั้งบิดา หรือมารดามียีนแฝงทั้งคู่ มีโอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะ หรืออาจเป็นโรคและมีโอกาสเป็นเด็กปกติต่ำลง

 

  • ในกรณีที่บิดา หรือมารดา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมียีนแฝง มีโอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะ แต่จะไม่เป็นโรค 

 

  • บิดา หรือมารดา หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรค โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะหรือโรค จะเท่ากับ 50 เปอร์เซ็นต์ 

 

 

อาการของโรคธาลัสซีเมีย

 

อาการของโรคธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ได้แก่

      

  • เด็กจะมีอาการซีด อาจต้องได้รับการให้เลือดเป็นบางครั้ง

 

  • เหนื่อยง่าย

 

อาการของโรคธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรง ได้แก่

 

ผิวซีด

 

  • ผิวซีด หรือผิวเหลืองคล้ายเป็นดีซ่าน

    

  • อ่อนเพลีย

      

  • ท้องโตจากการที่ตับ และม้ามโต

 

  • กระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น จมูกแบน, โหนกแก้มสูง, คาง และกระดูกขากรรไกรใหญ่ผิดปกติ เป็นต้น 

      

  • การเจริญเติบโตช้า, แคระแกร็น

      

  • หายใจลำบาก

 

อาการของโรคธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรงสูง ได้แก่

 

  • เด็กทารกจะมีอาการบวมน้ำ, ซีดมาก, ท้องโตจากการที่ตับ และม้ามโต, หัวใจวาย และอาจเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดออกมาได้ไม่นาน

 

 

ประเภทของโรคธาลัสซีเมีย

 

อัลฟ่าธาลัสซีเมีย (Alpha-Thalassemia) เกิดจากความผิดปกติของยีนอัลฟ่าโกลบิน ผู้ป่วยจะมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย จนถึงขั้นเสียชีวิตในครรภ์ สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

 

  • อัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 1 (α-thalassemia 1)

      

  • อัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 2 (α-thalassemia 2)

 

  • ฮีโมโกลบินคอนสแตนท์สปริง (Hb Constant Spring)

 

เบต้าธาลัสซีเมีย (Beta-Thalassemia) เกิดจากความผิดปกติของยีนเบต้าโกลบิน มักจะมีอาการซีด และตัวเหลือง ในบางรายอาจมีภาวะโลหิตจางมากจนต้องให้เลือดในการรักษา สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

     

  • เบต้า-ธาลัสซีเมีย (β-thalassemia)

      

  • ฮีโมโกลบินอี (Hb E)

 

 

การวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย

 

การตรวจคัดกรอง 

 

เป็นการตรวจภาวะที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย แต่ไม่สามารถแยกชนิดของพาหะโรคธาลัสซีเมียได้ แปลผลตรวจง่าย ขั้นตอนในห้องปฏิบัติการน้อย 

      

การตรวจฮีโมโกลบิน 

 

เป็นการตรวจหาชนิดของฮีโมโกลบิน ซึ่งวิธีนี้สามารถแยกชนิดของพาหะโรคธาลัสซีเมียได้

      

การตรวจดีเอ็นเอ 

 

เป็นการตรวจหาความผิดปกติของยีนและเลือดในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ มีความแม่นยำสูง 

 

 

การรักษาโรคธาลัสซีเมีย

 

ให้เลือด

 

การให้เลือด (Blood Transfusions)

      

  • หากผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียมีอาการซีดเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยการให้เลือด

      

  • ในบางกรณี แพทย์จะพิจารณาการให้เลือดสำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรงปานกลาง

 

  • แพทย์จะพิจารณาการให้เลือดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรง

 

การให้ยาขับธาตุเหล็ก (Chelation Therapy)

      

  • ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจะมีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้ยาในการขจัดธาตุเหล็กออกจากร่างกาย เพื่อป้องกันผลเสียต่อร่างกาย แพทย์จะใช้ยาฉีดชื่อดีเฟอร์ร็อกซามีน (Deferoxamine) หรือเดสเฟอรัล (Desferal) ฉีดเข้าทางผิวหนัง หรือทางหลอดเลือดดำ อีกทั้งยาขับธาตุเหล็กมีทั้งแบบรับประทาน และแบบฉีด

 

การผ่าตัดม้าม

      

  • แพทย์จะทำการผ่าตัดม้ามให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีอาการม้ามโต, ซีดมาก และต้องการเลือดถี่ขึ้น การผ่าตัดม้ามนี้จะทำในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียอายุ 5 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

      

  • แพทย์พิจารณาการให้วัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อฮีโมฟิลุส สำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียบางราย ก่อนการผ่าตัดม้าม

 

การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cells)

      

  • เป็นวิธีเดียวที่จะรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาด สามารถใช้เลือดจากสายสะดือมาเป็นแหล่งเซลล์ต้นกำเนิดได้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง และมีความเสี่ยง 

 

 

การป้องกันโรคธาลัสซีเมีย

      

  • ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน

      

  • ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโฟลิก (Folic) เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยเฉพาะผักใบเขียว และผลไม้รสเปรี้ยว เช่น คะน้า, อะโวคาโด และมะนาว เป็นต้น

 

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เลือดสัตว์, ตับ หรือผักโขม เป็นต้น

      

  • งดยา, วิตามินที่เสริมธาตุเหล็ก และวิตามินซี

 

 

ออกกำลังกายแบบเบา

 

  • ควรออกกำลังกายแบบเบาเป็นประจำ แต่ไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหนัก

      

  • ควรรักษาความสะอาด และอยู่ในที่อากาศโปร่งหรือไม่แออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

      

  • หากมีอาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที

 

 

อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคธาลัสซีเมียมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ดังนั้น ผู้ที่วางแผนการมีบุตรหรือต้องการสร้างครอบครัว ควรมาตรวจคัดกรองหาพาหะธาลัสซีเมีย การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียและการป้องกันที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคในบุตรหลาน หากคุณหรือคนในครอบครัวมีความเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ชาย-หญิง

 

โรคทางพันธุกรรม การถ่ายทอดที่ไม่มีใครอยากได้