หัวใจโต (Cardiomegaly) คือ ภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจ แม้ว่าภาวะหัวใจโตจะไม่ใช่โรคโดยตรง แต่อาจเป็นสัญญาณที่สามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่อาจซ่อนอยู่
สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด ดังนี้
ภาวะหัวใจโตจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี
หากผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจโตในกรณีนี้ จะทำให้มีเลือดคั่งอยู่ภายในห้องหัวใจมาก อาจส่งผลให้หัวใจมีลักษณะคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ
ภาวะหัวใจโตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ
เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนัก และบีบตัวมาก จึงส่งผลทำให้เกิดการหนาตัวขึ้นของกล้ามเนื้อหัวใจ
ภาวะความผิดปกตินี้มีสาเหตุมาจากอาการเจ็บป่วย เป็นโรคที่ส่งผลกับหัวใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เมื่อหัวใจเกิดความเสียหายหรือต้องทำงานหนักจะทำให้เกิดภาวะหัวใจโต โดยมีสาเหตุดังนี้
ผู้ที่มีเครือญาติเคยป่วยเป็นภาวะหัวใจโต หรือเคยป่วยเป็นโรคด้านหัวใจ
คนในกลุ่มผู้สูงอายุจะยิ่งเสี่ยงภาวะหัวใจโต
เกิดจากโรคและอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลต่อหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือโรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
โรคที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจโต เช่น โรคเบาหวาน, โรคโลหิตจาง หรือในร่างกายมีธาตุเหล็กมากเกินไป
ผู้ที่สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด
ปกติแล้วอาการของภาวะหัวใจโตในช่วงระยะแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่เมื่อเกิดภาวะหัวใจโตแล้วส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ จะสามารถแสดงอาการที่เป็นจุดสังเกต ได้แก่
มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่สม่ำเสมอ หรือใจสั่น
รู้สึกเหนื่อยง่ายแม้จะทำกิจกรรมเบา ๆ, หายใจหอบลำบาก หรือแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่มีการนอนราบ
น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล
มีอาการบวมที่ขา, ข้อเท้า
มีอาการไอบ่อยครั้งตอนนอน
ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการเวียนศีรษะหรือเป็นลมบ่อยครั้ง
ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
ผู้สูงอายุ
ผู้ที่สูบบุหรี่, ใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง, โรคไทรอยด์, โรคโลหิตจาง, โรคเบาหวาน หรือโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวเนื่องกับหัวใจ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมีอยู่หลายแบบ ล้วนแล้วแต่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น หัวใจล้มเหลว, หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเสียหายของหัวใจตามจุดต่าง ๆ รวมไปถึงสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจโตด้วย
แพทย์จะทำการซักถามประวัติและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ประกอบกับการตรวจวินิจฉัยการทำงานของหัวใจเพื่อหาความผิดปกติที่สามารถบ่งบอกถึงความเสี่ยงของภาวะหัวใจโต โดยสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ ทำให้ทราบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจได้
ตรวจเอกซเรย์ (X-ray) เพื่อใช้วินิจฉัยขนาดของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือใหญ่ขึ้นหรือไม่
ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echo) คลื่นความถี่สูงสามารถทำให้แพทย์เห็นลักษณะขนาดของหัวใจ รวมถึงลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจ และหาสาเหตุเบื้องต้นได้แม่นยำที่สุด
การดูแลตนเองระหว่างการรักษา
สำหรับการดูแลตนเองระหว่างทำการรักษาสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันหรือของทอด, แอลกอฮอล์, ดูแลเรื่องน้ำหนักและความดันโลหิต นอกจากนี้ควรให้เวลาพักผ่อนกับร่างกายให้เพียงพอ และปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีออกกำลังกายให้เหมาะสม
รักษาโดยการใช้ยา
ในบางกรณี แพทย์จะใช้การจ่ายยาเพื่อช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการด้านหัวใจตามความเหมาะสม เช่น ยาขับปัสสาวะ, ยาลดความดันโลหิต หรือยาควบคุมการเต้นของจังหวะหัวใจ เป็นต้น
รักษาด้วยการผ่าตัด
วิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น หากเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ สามารถรักษาได้ด้วยการทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ) หรือหากมีสาเหตุมาจากลิ้นหัวใจ จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ หรือผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นต้น
หากพบว่ามีคนในครอบครัวมีประวัติโรคที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจโต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หากพบโรคดังกล่าวจะได้รักษาทันก่อนเกิดภาวะหัวใจโต นอกจากนี้ยังสามารถปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อป้องกันภาวะร้ายนี้ ได้แก่
ควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้อ้วน หรืออาหารที่ทำให้ร่างกายมีไขมันกับคอเลสเตอรอลสูง
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อไม่ให้เกิดโรคเบาหวาน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรค
หากเราสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงโรคร้ายด้วยการดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจโตได้อย่างดี หรือถ้าหากมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง