เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ไม่เป็นไรจริง ๆ หรือ
เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ไม่เป็นไรจริง ๆ หรือ (อัปเดตเนื้อหา 2567)

เหนื่อยง่าย และหายใจไม่อิ่มเกิดได้จากกิจกรรมในชีวิตประจำวันไปจนถึงเกิดจากผลพวงจากโรคร้ายหลายชนิด อาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวจะมีระยะเวลาไม่เกิน 2 วันหากมากกว่านั้นอาจเป็นเรื้อรัง และบ่งบอกถึงสัญญาณของโรคได้ ดังนั้นหากเกิดอาการดังกล่าวผู้ป่วยไม่ควรปล่อยปละละเลยควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาต่อไป

 

หายใจไม่อิ่มคืออะไร

 

หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath) เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะรู้สึกสูดอากาศเข้าไปได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการหายใจสั้น ๆ หรืออาจรู้สึกหายใจไม่ออก อึดอัด ซึ่งจะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น การทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากจนเกินไป หรือการอยู่ในสภาพอากาศที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งหากปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่มเรื้อรังได้ ลักษณะอาการหายใจไม่อิ่มที่ส่งผลต่อระบบหายใจ มีดังนี้

 

  • อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก รู้สึกสูดอากาศเข้าไปไม่พอ
  • ไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ได้ การหายใจจึงเป็นเพียงจังหวะสั้น ๆ
  • อาจร้ายแรงจนเหมือนรู้สึกจะขาดใจ เพราะหายใจไม่ออก

 

เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่มเกิดจากอะไร

 

อาการเหล่านี้หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่อาการรุนแรง และอาจเกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว หากคิดแบบนี้คงต้องบอกว่าถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากอาการหายใจไม่อิ่ม จากความเหนื่อยง่าย อาจไม่ใช่อาการเล็กน้อยเพียงอย่างเดียว หากแต่ส่วนหนึ่งของอาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากโรคร้ายที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นต้น

 

สาเหตุหายใจไม่อิ่มโดยทั่วไป

 

อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้แรงมากเป็นเวลานาน ไม่ค่อยออกกำลังกาย มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการตกใจ หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า และหายใจไม่สะดวก เช่น สถานที่ความกดอากาศต่ำอย่างยอดเขา สถานที่อุณหภูมิสูงจนเกินไป เป็นต้น สาเหตุที่กล่าวมานี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และสามารถกลับมาเป็นปกติได้ในเวลาต่อมา

 

สาเหตุหายใจไม่อิ่มจากโรค

 

คงไม่มีใครต้องการให้อาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบากของเราเกิดมาจากโรคร้ายแน่ ๆ แต่น่าเสียดายที่ไม่ใช่แบบนั้น ปัญหาด้านการหายใจเป็นภาพสะท้อนของโรคบางโรคที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิต

 

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคนี้ถือเป็นโรคที่มีความเสี่ยงแปรผันมากขึ้นไปตามอายุยิ่งเรามีอายุที่มากขึ้น และมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือการเป็นโรคเบาหวาน โรคเหล่านี้จะยิ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคขึ้นได้ด้วย และแน่นอนว่าผู้ป่วยโรคนี้ในอายุที่มากขึ้นจะมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไปเป็นหนึ่งในอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
     
  • โรคทางปอด ซึ่งมีด้วยกันอยู่หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นวัณโรค ปอดบวม หอบหืด หรือหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น โรคที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก และมักมีผลกระทบต่อการหายใจ เช่น การหายใจไม่อิ่ม หรือหายใจไม่เต็มปอด
     
  • สภาวะอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อทางเดินหายใจ เช่น มีสิ่งแปลกปลอมขัดขวางทางเดินหายใจจากการทานอาหาร การเกิดอุบัติเหตุจนปอดเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคทางหัวใจ และโรคทางปอด อาทิเช่น โรคโลหิตจาง โรคไตเรื้อรัง โรคคอพอกเป็นพิษ โรคตับระดับรุนแรง ทั้งหมดที่กล่าวมาย่อมส่งผลต่อระบบหายใจทั้งสิ้น

 

สาเหตุเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของอาการที่เราคิดว่าอาจไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเรานับจากจำนวนสาเหตุของอาการเหนื่อยง่าย และหายใจไม่อิ่มคงจะเห็นแล้วว่าโรคที่ทำให้เกิดอาการนี้ช่างมีมากมายเกินกว่าจะนับได้หมด ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 2-3 วันให้รีบเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยหาวิธีรักษาต่อไป

 

หายใจไม่อิ่ม

 

 

ระดับความรุนแรงของอาการหายใจไม่อิ่ม

 

แพทย์จะประเมินความรุนแรงของอาการนี้ด้วยการออกกำลัง โดยมี Word Scale (Modified Medical Research Council Scale) เป็นตัววัด โดยจะแบ่งเป็น 0-4 Grade ดังนี้

  • Grade 0 ไม่มีอาการหากไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก
  • Grade 1 เหนื่อยเมื่อต้องเดินทางราบ หรือเดินขึ้นเขา
  • Grade 2 เดินบนทางราบได้ช้ากว่าคนที่มีอายุเท่ากัน หรือต้องหยุดพักหายใจ เมื่อเดินได้ระยะเวลาหนึ่ง
  • Grade 3 ต้องหยุดพักหายใจเมื่อเดินไปประมาณ 2-3 นาที
  • Grade 4 มีอาการเหนื่อยง่าย แม้ทำกิจกรรมเพียงเล็กน้อย เช่น เหนื่อยเมื่อถอด หรือสวมเสื้อผ้า เป็นต้น

 

 

หายใจไม่อิ่มแบบเรื้อรัง

 

อาการหายใจไม่อิ่มเรื้อรังมักเกิดขึ้นนานหลายสัปดาห์ หรืออาจกินเวลานานเป็นเดือน ซึ่งมักมีสาเหตุจากโรคประจำตัว เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่อิ่ม นอกจากนี้อาจมีสาเหตุจากภาวะอื่น ๆ ด้วย เช่น ภาวะอ้วน หรือมีภาวะการตั้งครรภ์ เป็นต้น

 

จะตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงได้อย่างไร

 

ด้วยสาเหตุที่หลากหลายทำให้แพทย์ต้องทำการซักถามประวัติ และอาการปัญหาการหายใจของผู้ป่วย รวมไปถึงการตรวจสภาพร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจตับและไต เป็นต้น โดยเฉพาะการตรวจทรวงอกด้วยการเอกซเรย์ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) วิธีเหล่านี้จะสามารถช่วยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการเหนื่อยง่าย และหายใจไม่อิ่มได้

 

เทคนิคการฝึกหายใจสำหรับผู้ที่มีอาการหายใจไม่อิ่ม

 

  • การฝึกหายใจแบบห่อริมฝีปาก หายใจเข้าทางจมูก แล้วห่อริมฝีปากแล้วค่อยปล่อยลมหายใจออกทางปากอย่างช้า ๆ ช่วยควบคุมจังหวะการหายใจให้ช้าลง ทำให้สูดหายใจได้ลึกขึ้น และสามารถรับออกซิเจนได้อย่างเต็มที่ วิธีนี้มักใช้ในขณะที่ทำกิจกรรมออกแรงอย่างหนัก เช่น การขึ้นบันได และการขนของ เป็นต้น
  • การฝึกหายใจด้วยท้อง วางฝ่ามือข้างหนึ่งลงบนหน้าอก และวางฝ่ามืออีกข้างลงบนหน้าท้อง เมื่อหายใจเข้าให้ใช้ฝ่ามือกดลงบนหน้าท้องเบา ๆ เพื่อไล่อากาศ วิธีการนี้จะสามารถใช้ร่วมกันกับวิธีหายใจแบบห่อริมฝีปากได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อกะบังลมทำงานได้ดีขึ้น และหายใจสะดวกขึ้น
  • การฝึกหายใจขณะออกกำลังกาย เน้นหายใจออกในขณะที่ต้องออกกำลังกายในท่าที่ใช้แรงมาก และควรวอร์มร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง

 

การป้องกันอาการหายใจไม่อิ่ม

 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ หรืออยู่ในสถานที่ที่มีสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
  • งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีควันบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เช่น การขนของหนัก หรือการขึ้นบันได
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และในกรณีผู้ที่มีน้ำหนักเกินควรควบคุมน้ำหนัก หรือควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

อาการหายใจไม่อิ่มเป็นอาการที่สามารถทำให้บรรเทา หรือหายเองได้ แต่หากไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเพื่อป้องกันอาการเรื้อรัง หรือหาทางรักษาโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

 

____________________________________
 

 

ศูนย์หัวใจ