ครรภ์เป็นพิษ ภาวะที่คุณแม่ต้องระวัง
ครรภ์เป็นพิษ ภาวะที่คุณแม่ต้องระวัง

“การตั้งครรภ์” เป็นช่วงเวลาที่สวยงาม และสำคัญที่สุดของผู้หญิงอีกช่วงหนึ่งเลยก็ว่าได้ คุณแม่ทุกคนล้วนต้องการให้ลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง คลอดง่าย และภาวนาให้ไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นกับลูกในครรภ์ แต่มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องเสี่ยงกับภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” ซึ่งคุณแม่ 100 คนพบว่าเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษถึง 4 คน ภาวะดังกล่าวนี้หากคุณแม่ไม่สังเกตอาการของตนเองอาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ 

 

ครรภ์เป็นพิษคืออะไร

 

ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงหลังคลอด สาเหตุการเกิดครรภ์เป็นพิษนั้นยังไม่แน่ชัด โดยมีข้อสมมติฐานต่าง ๆ ที่ทางแพทย์คาดเดา เช่น

  • เกิดจากรกทำงานผิดปกติทำให้มีสารบางชนิดกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • เกิดจากภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวรั่วออกมาปะปนอยู่ในปัสสาวะ
  • เกิดจากการฝังตัวไม่เน้นของรกบริเวณผนังมดลูกจนทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเด็กทารกในครรภ์ไม่เพียงพอ และเกิดการหลั่งสารพิษบางอย่างเข้าสู่กระแสเลือดที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยจนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา

 

อาการของครรภ์เป็นพิษ

 

สัญญาณอันตรายที่เตือนคุณแม่ว่าครรภ์เป็นพิษ คือ เกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ และเท้า ทารกดิ้นน้อยลง ตับทำงานผิดปกติ สายตาพร่ามัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ หายใจลำบาก และอาการที่สำคัญคือ มีความดันเลือดสูง

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ

 

  • ผู้เป็นโรคอ้วน ซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจตีบได้ง่าย
  • มีกรรมพันธุ์พบว่าคนในครอบครัวเคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • ผู้ตั้งครรภ์ฝาแฝด หรือตั้งครรภ์มากกว่า 1 คน
  • ผู้ตั้งครรภ์ตอนมีอายุ 35 ปีขึ้นไป
  • ผู้มีบุตรยาก
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

 

ระดับความรุนแรงของครรภ์เป็นพิษ

 

ภาวะครรภ์เป็นพิษแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • ระดับไม่รุนแรง คุณแม่จะมีความดันโลหิตสูง 140/90-160/110 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ
  • ระดับรุนแรง คุณแม่จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรขึ้นไป และตรวจพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ตับอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ ไตทำงานน้อยลง รวมถึงเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
  • ระดับอันตราย คุณแม่มีอาการชัก เกร็ง และหมดสติ ซึ่งในระยะนี้จะต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเพราะอาจจะทำให้คุณแม่และลูกน้อยเสียชีวิตได้

 

ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ

 

  • เกิดการคลอดก่อนกำหนด ในบางครั้งอันตรายจากครรภ์เป็นพิษอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องทำให้ตัดสินใจทำการคลอดก่อนกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อย และเมื่อคลอดก่อนกำหนดจะส่งผลต่อสุขภาพของทารกโดยตรง
  • รกลอก โดยรกอาจจะลอกหรือหลุดก่อนกำหนดได้ หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดอาการเลือดออกอย่างมากมีผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งผู้เป็นแม่และทารกในครรภ์
  • การเติบโตของทารกไม่ได้มาตรฐาน ภาวะครรภ์เป็นพิษส่งผลให้เด็กทารกรับสารที่จำเป็น เช่น สารอาหาร ออกซิเจน ได้น้อยลงส่งผลให้เมื่อถึงกำหนดคลอดเด็กทารกจะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานได้
  • ความเสียหายต่ออวัยวะส่วนอื่น ร่างกายของผู้เป็นแม่สามารถเสียหายได้หลายจุด เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต เป็นต้น และความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแปรผันตามความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษนั่นเอง
  • อาการชัก อาการนี้อันตรายอย่างมากต่อทารกในครรภ์และคุณแม่ เนื่องจากอาการชักมักจะไม่แสดงอาการหรือส่งสัญญาณให้รู้ก่อน เมื่อคุณแม่เกิดอาการชักแพทย์จึงจำเป็นต้องทำการยุติการตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัย
  • อาการ HELLP เป็นภาวะที่มีความรุนแรงอย่างมากมีผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย โดยจะเกิดความเสียหายจากอวัยวะหลายจุด อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนที่สังเกตได้เช่นกัน ถ้ามีอาการจะสามารถสังเกตได้ เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน คลื่นไส้ เป็นต้น

 

การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ

 

การรักษาภาวะดังกล่าวมีเพียงวิธีเดียวคือการคลอด ซึ่งการคลอดนั้นแพทย์จะทำการตรวจวัดตามความเหมาะสม เช่น ระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ความแข็งแรงของคุณแม่ ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ โดยแพทย์จะพยายามคอยดูแลคุณแม่และลูกในครรภ์จนกว่าจะถึงระยะเวลาที่สมควร นอกจากนี้หากคุณแม่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์หรือมากกว่าจะสามารถผ่าคลอดหรือทำการเร่งคลอดทารกได้ทันที โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้อาการครรภ์เป็นพิษรุนแรงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นั่นเอง เมื่อคุณแม่คลอดทารกออกมาแล้ว คุณแม่จะเริ่มมีอาการดีขึ้นและหายจากภาวะดังกล่าวได้เอง

 

  • ครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง คุณแม่สามารถกลับบ้านได้ตามปกติแต่ต้องมาพบแพทย์ตามที่กำหนดไว้เพื่อคอยตรวจร่างกายและเฝ้าระวังอาการของภาวะดังกล่าว นอกจากนี้คุณแม่ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และทานยาตามที่แพทย์สั่งด้วย
  • ครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง หากอยู่ในภาวะรุนแรงคุณแม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะคอยให้ยาที่จำเป็นต่อคุณแม่ และต้องคอยตรวจร่างกายรวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อีกด้วย

 

การป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ

 

หากจะถามถึงการป้องกันนั้นไม่สามารถทำได้ แต่ยังมีการปฏิบัติตนที่สามารถช่วยหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด ได้แก่

  • ดื่มน้ำขั้นต่ำ 6 แก้วต่อวัน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อร่างกาย
  • สามารถออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงได้ แต่ต้องปรึกษากับแพทย์เพื่อรับคำแนะนำก่อน
  • ไม่ทานอาหารที่มีรสเค็มและไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • ทำการฝากครรภ์ เพื่อพบแพทย์และตรวจร่างกาย รวมถึงความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ตามกำหนด

 

ครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะที่อันตรายอย่างมากต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้อีกด้วย ดังนั้นทางเราจึงแนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและคำแนะนำระหว่างตั้งครรภ์ หรือทำการฝากครรภ์เพื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์ตลอดอายุการตั้งครรภ์ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วในการรับมือกับภาวะครรภ์เป็นพิษ

 

 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

 

______________________________

 

ติดต่อแผนกสูตินรีเวช


วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00-19.00 น. (ติดต่อลงทะเบียนก่อนเวลา 18.30 น.)
ตึก/ชั้น : A/16
เบอร์ติดต่อ : 1390