ภาวะ DKA ที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวัง
ภาวะ DKA ที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวัง

ภาวะ DKA (Diabetic Ketoacidosis) คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรด เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคเบาหวาน เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้ร่างกายสร้างคีโตน (Ketones) ออกมาในกระแสเลือดเป็นปริมาณมาก เลือดจึงมีสภาวะเป็นกรด จะเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เพราะสามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

 

สาเหตุการเกิดภาวะ DKA

 

เมื่อร่างกายขาดอินซูลิน ทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลในเลือดมาเป็นพลังงานได้ จึงปล่อยฮอร์โมนในการเผาผลาญไขมันมาทดแทนน้ำตาล จึงทำให้เกิดการสร้างกรดคีโตน ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการสะสมกรดในเลือด สารเคมีในเลือดจึงเสียสมดุล และส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย

 

นอกจากร่างกายขาดอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานแล้ว การติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ปอดบวม หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ จะมีการสร้างฮอร์โมนต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น อะดรีนาลีน หรือคอร์ติซอล ฮอร์โมนเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะ DKA ได้

 

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงตีบเฉียบพลัน ที่ขาดสารอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม SGLT-2 inhibitor จะมีปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะ DKA ได้

 

 

อาการของภาวะ DKA

      

  • ปากแห้ง กระหายน้ำ

      

  • ปัสสาวะบ่อย

         

  • ปวดท้อง

           

  • คลื่นไส้ อาเจียน

           

  • อ่อนเพลีย

           

  • หายใจลำบาก

      

  • ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้

      

  • ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

 

 

การรักษาภาวะ DKA

 

  • การให้น้ำทดแทนหากผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำจากการปัสสาวะบ่อย ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยแพทย์อาจจะให้ผ่านหลอดเลือดดำ

 

  • การให้เกลือแร่ทดแทน (Electrolyte Replacement) เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และคลอไรด์ เนื่องจากการขาดอินซูลิน แพทย์อาจให้เกลือแร่ทดแทนผ่านการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และหัวใจ ทำงานได้ตามปกติ

 

  • การรักษาด้วยการให้อินซูลิน แพทย์อาจให้อินซูลินผ่านทางหลอดเลือดดำ จนกว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และเลือดไม่มีความเป็นกรด

 

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะ DKA จากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจจะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการของผู้ป่วย

 

 

Diabetic Ketoacidosis

 

 

การป้องกันภาวะ DKA 

 

  • รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย โดยเฉพาะประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ขนมปัง และซุปข้น เป็นต้น

 

  • ดื่มน้ำมากขึ้น อย่างน้อย 1 แก้ว ทุก 1 ชั่วโมง

 

  • รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และอย่าหยุดฉีดอินซูลิน

 

  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ

 

  • ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับปริมาณอินซูลินตามสภาวะของร่างกาย รวมทั้งแจ้งรายการยาทุกตัวที่ใช้อยู่ อาหารเสริม และวิตามินต่างๆเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

พฤติกรรมบางอย่างเช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด โดยเฉพาะโคเคน เป็นเสี่ยงที่กระตุ้นทำให้เกิดภาวะ DKA ได้ รวมทั้งการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ และยาขับปัสสาวะ หากผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีอาการ แน่นหน้าอก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง ควรพบแพทย์โดยด่วน