การดูแลบาดแผล
การดูแลบาดแผล

การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั้นมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน และอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นได้กับทุกคน เช่น สะดุดล้ม มีดบาดมือ หรือแม้กระทั่งของตกใส่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุสิ่งที่ตามมาคือ บาดแผล การปฏิบัติเมื่อตนเองมีบาดแผลเพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ มีดังนี้

 

1. มาทำความสะอาดแผลตามที่แพทย์สั่งที่โรงพยาบาล คลินิก หรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน แผลบางชนิดที่แพทย์สั่งไม่ต้องมาล้างแผล หากมีเลือดซึมออกมาให้มาเปิดแผลล้างได้
 

2. ระวังอย่าให้แผลเปียกชื้น หรือโดนน้ำ เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อได้ หากผ้าพันแผลชื้นสกปรกควรมาทำความสะอาดแผลใหม่ทันที
 

3. กรณีบาดแผลอยู่บริเวณแขน ขา มือ และเท้า ควรยกให้สูงกว่าหัวใจเพื่อลดอาการบวม
 

4. พักผ่อนให้เพียงพอ ลดการเคลื่อนไหวที่อาจทำให้เกิดการอักเสบ และการหายของแผลช้ากว่าปกติ หากมีแผลบริเวณช่องท้องไม่ควรยกของหนัก
 

5. รับประทานอาหารที่ส่งเสริมการหายของแผล เช่น อาหารพวกเนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่ขาว นม ผัก ผลไม้รสเปรี้ยว หลีกเลี่ยงของหมักดอง อาหารที่ทำให้เลือดออก เช่น โสม เครื่องดื่มชูกำลัง คอลลาเจน
 

6. ไม่ใช้มือสัมผัส แคะ หรือเกาบาดแผลรักษาความสะอาดของบาดแผล และร่างกายทั่วไปเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล
 

7. งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา เพราะจะทำให้แผลหายช้า
 

8. กรณีที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และมีแผลเจาะดูค่าน้ำตาลทุกวันจันทร์ที่ห้องทำแผล โรคไต โรคความดันโลหิตสูง จะทำให้การหายของแผลช้ากว่าปกติ กรณีทานยาละลายลิ่มเลือดต้องแจ้งแพทย์ด้วยทุกครั้ง
 

9. ไม่ควรใช้สมุนไพร หรือผงโรยแผลปิดลงบนแผล เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
 

10. รับประทานยาตามที่โรงพยาบาลจัดให้ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะต้องทานให้ครบ
 

11. มาตรวจทุกครั้งตามกำหนดนัด
 

12. หากมีไข้ และปวดแผลมากขึ้น รอยแผลบวมแดงควรกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจซ้ำ โดยสามารถมาก่อนนัดหมายได้
 

13. หากท่านมีนัดฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หรือพิษสุนัขบ้า ให้มาตามนัดที่กำหนดทุกครั้ง หากท่านไม่สะดวกสามารถเข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ เพื่อประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคที่สมบูรณ์แก่ตัวท่านเอง