ฝันร้าย สัญญาณบอกปัญหาสุขภาพ
ฝันร้าย สัญญาณบอกปัญหาสุขภาพ

การนอนหลับ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ร่างกายจะได้พักผ่อน และปล่อยวางจากเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญมาทั้งวัน และสิ่งที่เคียงคู่กับการนอนหลับนั่นก็คือ “ความฝัน” หากฝันดีก็จะทำให้ยามตื่นนอนกลายเป็นเช้าที่แสนสดใส แต่ถ้าหากฝันร้ายอาจจะทำให้หลับต่อได้ยากขึ้น และยังสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ฝันร้ายยังสามารถบอกถึงปัญหาสุขภาพจิตของเราอีกได้ด้วย

 

เรื่องของฝันร้าย

 

ฝันร้าย (nightmare) เป็นภาวะที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ในเชิงลบ ซึ่งเกิดในภาวะการนอนหลับในระยะ REM (rapid eye movement) เป็นช่วงที่กล้ามเนื้อสมองส่วนทาลามัส และซีรีบรัมที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า การหลั่งน้ำลาย การหายใจหยุดการทำงานลง โดยฝันร้ายมักจะมีภาพลักษณ์ที่ซับซ้อน และเป็นเรื่องยาว ผลจากการฝันร้ายจะทำให้เกิดภาวะความกลัวอย่างรุนแรง หรือมีความวิตกกังวล สมาคมจิตแพทย์อเมริกาได้ให้คำจำกัดความและกำหนดการวินิจฉัยว่า ฝันร้ายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก 10 ขวบขึ้นไป แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หรือทางสังคมมากนัก แต่หากฝันร้ายเกิดขึ้นบ่อย ๆ กับวัยผู้ใหญ่จะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

สาเหตุของฝันร้าย

 

  • ร้อยละ 60 พบว่าสาเหตุของฝันร้ายมาจากความวิตกกังวล และความเครียด
  • การสูญเสียบุคคลที่รัก หรือเกิดความเจ็บปวด
  • ผลข้างเคียงของยา เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือสูบบุหรี่มากเกินไป
  • ความผิดปกติของการหายใจขณะหลับ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • การรับประทานอาหารที่ย่อยยากก่อนเข้านอน เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เป็นต้น
  • มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล

 

เมื่อฝันร้าย (ไม่) ได้กลายเป็นดี

 

ฝันร้าย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ ดังนี้

  • โรควิตกกังวล ผู้ที่ป่วยเป็นโรควิตกกังวลมักจะเกิดอาการฝันซ้ำ ๆ ความฝันมีลักษณะยาว และละเอียด เนื้อเรื่องอาจจะเป็นเหตุการณ์เดิม ๆ หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ในปัจจุบันก็ได้
  • โรคซึมเศร้า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักจะฝันถึงสถานที่มืด ๆ น่ากลัว หรือฝันถึงคนตาย อาจปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ และอาจฝันเห็นหลาย ๆ เรื่องในคืนเดียวกัน
  • ภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) มักจะฝันถึงเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เคยประสบพบเจอมา มักจะเป็นภาพฉายซ้ำ ๆ และมีจุดจบแบบเดิม บางครั้งอาจเห็นภาพแค่บางส่วน
  • โรคไบโพลาร์ มักจะเป็นความฝันที่สดใส ละเอียด น่าจดจำ สามารถปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องยาว อาจเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ หรือละครที่ดู

 

วิธีป้องกันการฝันร้าย

 

  • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน นิโคติน และแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เป็นต้น เพราะอาหารกลุ่มนี้จะมีส่วนผสมเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายตื่นตัว และนอนหลับได้ยากขึ้น
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น การพักผ่อนก่อนนอน อาบน้ำอุ่น หรือการอ่านหนังสือจะทำให้สามารถหลับได้ง่ายขึ้น
  • ควบคุมอุณหภูมิห้อง รักษาอุณหภูมิให้ไม่ร้อน หรือเย็นเกินไป เพราะอากาศที่ไม่สบายอาจรบกวนการนอนหลับได้
  • หลีกเลี่ยงการนอนบนเตียงหากยังไม่หลับ ควรหากิจกรรมอื่นทำก่อน เพราะหากนอนไม่หลับจะทำให้เกิดความวิตกกังวลจนยิ่งทำให้นอนไม่หลับ
  • พบแพทย์ เพื่อเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการนอนไม่หลับอย่างตรงจุด เพราะปัญหาการนอนไม่หลับนั้นสามารถรักษาให้หายได้

 

ความฝันอาจจะบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ และหากปล่อยเอาไว้อาจจะรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากพบว่าตนเองมีปัญหาการนอนหลับควรปรับพฤติกรรม และเข้าพบแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง