ภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว ความเสี่ยงที่แปรผันตามอายุ
ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ความเสี่ยงที่แปรผันตามอายุ

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation หรือ AF หรือ A-Fib) ถือเป็นภาวะควรระวังของผู้สูงอายุ เนื่องจากความเสี่ยงจะมากขึ้นตามวัย ประกอบกับปัจจัยอื่น เช่น ความเครียด หรือโรคที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจทั้งทางตรง และทางอ้อม นอกจากนี้มีภาวะแทรกซ้อนยังรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรืออาจทำให้เนื้อเยื่อสมองตายได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

 

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว คืออะไร

 

เป็นภาวะของหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้มาก และจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นไปด้วย โดยอายุที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดจะอยู่ระหว่าง 80-90 ปี ภาวะนี้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคทางหัวใจหลายโรค เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากอยู่แล้ว ประกอบกับภาวะผิดปกติของหัวใจ ปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของหัวใจของเรา และคนรอบตัวให้มากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยง

 

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีอาการอย่างไร

 

  • หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการใจสั่น จังหวะเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • มีอาการเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะตอนออกกำลังกาย
  • มีโอกาสเป็นลมหมดสติ

 

อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามช่วงระยะของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วตั้งแต่เป็นแบบชั่วคราวในระยะเวลาสั้น ๆ ไปจนถึงการเป็นอย่างถาวร โดยผู้ที่เป็นระดับถาวรหัวใจจะมีจังหวะการเต้นที่ผิดปกติจนไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติได้อีกต่อไป ทำได้เพียงรักษาสภาพให้ใกล้เคียงปกติเท่านั้น

 

อันตรายสูงสุดของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

 

การเกิดปัญหากับหัวใจไม่ได้จบเพียงจุดเดียว เนื่องจากหัวใจเป็นจุดสำคัญในร่างกาย ความเสียหายจากหัวใจจึงสามารถส่งผลต่ออวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกายได้อีกด้วย

 

  • เนื้อเยื่อสมองตาย เมื่อหัวใจสูบฉีดเลือดไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็นจะทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นได้ ส่งผลให้สมองได้รับเลือดไม่เพียงพอจนเนื้อเยื่อสมองตายในที่สุด
  • หัวใจล้มเหลว หรือที่เราเรียกว่า “หัวใจวาย” เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเป็นภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับการรักษา เมื่อหัวใจทำงานน้อยลงกว่าแต่ก่อน จะเสี่ยงหัวใจล้มเหลว และมีโอกาสเสียชีวิตสูง

 

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีสาเหตุเกิดจากอะไร

 

การเกิดภาวะนี้มีที่มาของไฟฟ้าหัวใจเกิดความผิดปกติจากโครงสร้างของหัวใจบกพร่องบริเวณห้องบนทั้ง 2 ที่ขาดความสมดุล ส่งผลให้เกิดอาการสั่น และสะเทือนหัวใจในเวลาต่อมา ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้มีอยู่ด้วยกันหลายข้อ ได้แก่

 

  • โรคหรือสภาวะผิดปกติของหัวใจ เช่น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว และโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เป็นต้น
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคสมองขาดเลือด โรคไตเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
  • สภาวะอารมณ์ เช่น มีความเครียดความกดดันมากเกินไป
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และการดื่มแอลกอฮอล์
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นจะยิ่งเสี่ยงตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเสี่ยงสูงสุดที่อายุ 80-90 ปี

 

ภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว

 

วิธีวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

 

สามารถรับการวินิจฉัยได้หลายวิธีเพื่อให้ทราบถึงจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ผ่านเทคโนโลยีทางการแพทย์หลากหลายชนิด ได้แก่

 

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) : วิธีการตรวจด้วยวิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ใช้โดยทั่วไปเพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เพื่อดูการทำงานของหัวใจ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่องพกพา (Event Recorder) : มักจะใช้กรณีที่ผู้ป่วยมีจังหวะการเต้นของหัวใจมีความผิดปกติเป็นครั้งเป็นคราว หลังจากบันทึกแล้วแพทย์จะนำไปประกอบการวินิจฉัยต่อไป
  • เอกซเรย์ทรวงอก : กรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติมีโอกาสจะเกิดมาได้จากสาเหตุอื่นมากกว่าจะเป็นภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว
  • ทดสอบสมรรถภาพของหัวใจ (EST) : เป็นวิธีตรวจดูการทำงานของหัวใจผ่านการออกกำลังกาย ภายใต้การดูแลของแพทย์ วิธีนี้จะช่วยหาสาเหตุของอาการหัวใจผิดปกติได้มากขึ้น
  • อัลตราซาวด์หัวใจ : ผ่านคลื่นสะท้อนเพื่อดูลักษณะโครงสร้าง รวมถึงตรวจดูการทำงานของหัวใจ หากพบความผิดปกติแพทย์จะเห็นภาพสะท้อนนั้น ๆ ด้วย

 

ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้วรักษาได้

 

การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การปรับ และควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด ซึ่งแพทย์จะพิจาณาจากปัจจัยของผู้ป่วยหลายข้อ เช่น อายุ สภาพร่างกาย ความรุนแรงของอาการ โดยเฉพาะสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะผิดปกติ เนื่องจากบางสาเหตุอาจเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ และมีโอกาสส่งผลให้หัวใจกลับมาเต้นปกติได้อีกครั้งโดยไม่จำเป็นต้องควบคุมแต่อย่างใด การภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้วรักษาจะมุ่งเน้นไปที่ 4 วิธี ได้แก่

 

  • ใช้ยารักษา เพื่อปรับการเต้นของหัวใจ แต่จะเป็นเพียงการควบคุมอาการ และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น ไม่สามารถใช้ยาเพื่อรักษาให้หายขาดได้
  • การกระตุ้นไฟฟ้า วิธีนี้อาจมีความเสี่ยง และผลข้างเคียงตามมาได้ ดังนั้นตลอดกระบวนการจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง และต้องคอยทานยาตามที่แพทย์สั่งหลังทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะวินิจฉัย และอนุญาตให้หยุดทาน
  • การผ่าตัด เพื่อกำจัดกล้ามเนื้อหัวใจบริเวณที่มีการทำงานผิดปกติ โดยจะใช้เวลาในการผ่าตัด 2-3 ชั่วโมง และต้องพยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรง และการเคลื่อนไหวร่างกายจนกว่าอาการจะหายดี
  • ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้กับผู้สูงอายุ และผู้ที่รักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจไว้ที่หน้าอกเพื่อกระตุ้นหัวใจเมื่อมีการเต้นผิดปกติ

 

นอกเหนือจากนั้นเทคโนโลยีจากห้อง Cath Lab ของทางเราเองมีการให้บริการทางด้านหัวใจทั้งการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในหัวใจ ไปจนถึงการรักษาอาการเหล่านั้นทุกรูปแบบ ผ่านแพทย์เฉพาะทาง และเครื่องมือสนับสนุนที่ครบครัน

 

นานาวิธีป้องกันภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว

 

ถึงแม้จะไม่มีวิธีป้องกันได้ครบ 100 % แต่การปล่อยให้ตนเองมีความเสี่ยงสูงแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ควรทำอย่างแน่นอน สภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจเกือบทุกประเภทจึงสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการ “ดูแลตนเอง” ทั้งการทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน และหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจเท่านั้นเอง

 

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง หรือต้องการคำว่า “ปลอดภัยไว้ก่อน” สามารถตรวจสุขภาพหัวใจได้เพื่อคลายความกังวล และเมื่อมีอาการสุ่มเสี่ยงควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป

 

 

____________________________________
 

 

ศูนย์หัวใจ