อาการปวดท้องแต่ละแบบบ่งบอกอะไรบ้าง
อาการปวดท้องแต่ละแบบบ่งบอกอะไรบ้าง

อาการปวดท้องเกิดได้ทั้งบริเวณชายโครง ท้องน้อย เอว ลิ้นปี่หรือกลางท้อง บางครั้งอาการเหล่านี้อาจลุกลามไปจนถึงขา หรือกระดูกสันหลังได้ หากพบว่าตนเองมีอาการปวดท้องในรูปแบบต่าง ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคที่ไม่ค่อยอันตราย เช่น โรคกระเพาะ ไปจนถึงโรคที่มีความรุนแรง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรือกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เป็นต้น

 

ปวดบริเวณท้องน้อย

 

อาการปวดบริเวณนี้เป็นสัญญาณของโรคทางลำไส้ ไส้ติ่ง มดลูก และกระเพาะปัสสาวะ โดยหากปัสสาวะมีปัญหา เช่น ปัสสาวะได้น้อย ปัสสาวะขัด จะเป็นหนึ่งในสัญญาณกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นอกจากนี้อาการปวดที่เกิดขึ้นกับท้องน้อยจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้

 

  • ปวดท้องน้อยฝั่งซ้าย หากคลำแล้วพบก้อน หรือมีอาการอุจจาระผิดปกติจะมีความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ เช่น เนื้องอกลำไส้ หรือลำไส้อักเสบ เป็นต้น หากปวดในลักษณะเกร็งมาจนถึงต้นขาอาจมีความเสี่ยงโรคนิ่วในไต หากเป็นเพศหญิงอาจเป็นสัญญาณมดลูกอักเสบ สังเกตได้จากอาการปวดร่วมกับมีไข้ และอาการตกขาว
     
  • ปวดท้องน้อยฝั่งขวา หากคลำแล้วพบก้อน อาจมีความเสี่ยงเกี่ยวกับไส้ติ่ง หากเป็นเพศหญิงสามารถเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของรังไข่ได้ด้วย หากปวดในลักษณะเกร็งมาจนถึงต้นขาแสดงว่าเกิดความผิดปกติกับไต หากปวดแล้วมีไข้ และตกขาวในผู้หญิงอาจเกิดอาการอักเสบที่ปีกมดลูก

 

นอกจากนี้อาการที่น่าเป็นห่วงคืออาการของไส้ติ่งจากปวดท้องน้อยฝั่งขวาที่อาจเพิ่มความรุนแรงจนแทบขยับตัวไม่ได้ ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว

 

ปวดบริเวณชายโครง

 

อาการปวดบริเวณนี้ส่งผลต่อม้าม และถุงน้ำดีซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เนื่องจากอาการปวดนิ่วด้านชายโครงขวาจนถึงหลังสามารถนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้ อาการปวดที่ชายโครงสามารถแบ่งได้ดังนี้

 

  • ปวดชายโครงซ้าย หากปวดบริเวณนี้แสดงว่ามีความเสี่ยงที่ม้ามจะเกิดความผิดปกติ ในกรณีนี้ให้รีบเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีอันตรายค่อนข้างสูง
     
  • ปวดชายโครงขวา หากพบก้อน ประกอบกับอาการตัวเหลืองร่วมด้วยจะเป็นสัญญาณความผิดปกติของตับ และถุงน้ำดี หากอาการปวดไม่บรรเทาลงให้พบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษา

 

หากลองกดแล้วเจ็บบริเวณชายโครง จะเป็นสัญญาณของกระดูกอ่อนอักเสบ หรือกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งสามารถสร้างความรำคาญได้เนื่องจากอาการจะเป็นแบบเรื้อรัง ถึงแม้กลุ่มโรคนี้จะไม่ใช่กลุ่มโรคที่เป็นอันตราย แต่ไม่ควรปล่อยไว้ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาแนวทางการรักษาต่อไป

 

ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้อง

 

อาการปวดใต้ลิ้นปี่ หรือบริเวณกลางท้องบ่งบอกได้ถึงโรคได้หลายโรคตั้งแต่โรคที่ไม่อันตรายมากนักอย่างโรคกระเพาะ ไปจนถึงโรคที่มีอัตราเสียชีวิตหากไม่ระวังอย่างโรคหัวใจขาดเลือด ดังนี้

 

  • ปวดลักษณะจุกแสบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรืออาการปวดเรื้อรัง แสดงถึงความเสี่ยงโรคกระเพาะ หากอาเจียนร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของตับอ่อนอักเสบ
     
  • มีอาการแน่นท้อง หรือท้องอืดบ่อย ๆ เรื้อรังเป็นเวลานานอาจเป็นสัญญาณของนิ่วในถุงน้ำดี
     
  • หากคลำเจอก้อนบริเวณลิ้นปี่จะเสี่ยงทั้งตับโต และกระดูกลิ้นปี่ แต่ก้อนของตับโตจะใหญ่กว่า
     
  • ปวดร่วมกับอาการเจ็บ หรือแน่นหน้าอกเป็นสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือด
     
  • หากปวดบริเวณสะดือ และขับถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน กดแล้วเจ็บ แสดงถึงอันตรายจากไส้ติ่งอักเสบได้หากมีอาการเหล่านี้อย่ารอช้าให้รีบเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

 

ปวดท้อง

 

ปวดบริเวณเอว

 

อาการปวดบริเวณเอวมักเป็นสัญญาณหลักของความผิดปกติของไตทั้งการเกิดโรคนิ่วในไต หรือกรวยไตอักเสบ

 

  • อาการปวดอาจปวดข้างเดียว หรือปวดสองข้างร่วมกับปัสสาวะมีเลือดผสมบ่งบอกถึงความเสี่ยงนิ่วในไต หากปวดที่ขาด้วยเป็นอาการของนิ่วในท่อไต
     
  • หากปัสสาวะขุ่น มีอาการปวดเอวไปจนถึงปวดหลัง และมีไข้อาจเป็นกรวยไตอักเสบ
     
  • ปวดเอว และปวดกระดูกสันหลัง หรือปวดลงไปที่ขาเป็นอาการของกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
     
  • อาการปวดจากการใช้งานหนัก หรือจากการทำงานทั้งการนั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน หรือการยกของหนักสามารถทำให้กล้ามเกิดอาการเกร็งจนปวดได้

 

การวินิจฉัยอาการปวดท้อง

 

จากที่กล่าวไปทั้งหมดในข้างต้นนั้นเป็นเพียงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้นหากต้องการทราบสาเหตุอย่างแน่ชัดให้เข้าพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ เช่น บริเวณที่ปวด ลักษณะอาการ และความรุนแรง ต่อด้วยตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และจะตรวจความผิดปกติบริเวณท้องได้ด้วยการอัลตราซาวด์ การเอกซเรย์ หรือการส่องกล้อง เพื่อให้รู้สาเหตุที่แท้จริงของการปวดท้องแต่ละจุด และทำการรักษาต่อไป

 

ไม่อยากปวดท้องต้องทำอย่างไร

 

เนื่องจากอาการปวดท้องเกิดขึ้นได้หลายจุดจากหลายสาเหตุ แนวทางในการป้องกันจึงไม่สามารถรับรองได้ว่าจะช่วยได้ทั้งหมด โดยเบื้องต้นสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงบางโรคจากอาการปวดท้องได้ดังนี้

 

  • ให้เน้นเรื่องการรับประทานอาหารทั้งทานในปริมาณพอเหมาะ เพิ่มการทานผักผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
     
  • ดื่มน้ำพักผ่อนให้เพียงพอ
     
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
     
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากมีอาการปวดไม่ควรปล่อยไว้ ควรพบแพทย์ก่อนอาการปวดจะรุนแรง
     

อาการปวดท้องไม่ว่าจะเป็นจุดไหนหรือปวดมากปวดน้อยอาจหมายถึงสัญญาณของโรคร้าย หากเราละเลยคิดว่าไม่เป็นไร ไม่ยอมไปหาหมอ จนอาการรุนแรงจะรักษาโรคร้ายได้ยากมากขึ้น การป้องกันและการระวังไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก