ทุกเซลล์ในร่างกายล้วนมี “ไขมัน” เป็นส่วนประกอบในการดูดซึม ทำให้ผิวหนังของเรามีความชุ่มชื่น และเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย แม้ว่าเจ้าไขมันจะมีประโยชน์ก็ใช่ว่าการบริโภคอาหารที่มีไขมันมาก ๆ แล้วจะดีต่อร่างกาย เพราะไขมันมีทั้งชนิดดี และไม่ดี หากบริโภคไขมันชนิดไม่ดีเข้าไปมาก ๆ อาจจะส่งผลให้เป็น “โรคไขมันในเลือดสูง”
การได้รับไขมันสูงมาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากกรรมพันธุ์ ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน และการรับประทานอาหาร เช่น อาหารจำพวกแป้ง เครื่องในสัตว์ มะพร้าว ของทอด ของมัน เป็นต้น ซึ่งโรคไขมันในเลือดสูงเป็นภาวะที่เลือดมีค่าไขมันสูงที่กำหนด อาจเกิดจากระดับไตรกลีเซอไรด์ หรือระดับคอเลสเตอรอลสูงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะสูงทั้งสองเลยก็ได้ เดิมทีโรคนี้มักจะพบในคนเชื้อชาติตะวันตกมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น แต่ในปัจจุบันประเทศไทยกลับพบผู้ป่วยที่เป็นโรคเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมักได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งตะวันตก
คนที่ป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูงมักจะนำพาไปสู่โรคหัวใจ และหลอดเลือด เพราะคอเลสเตอรอลจะไปสะสมในผนังหลอดเลือด และอุดตันเส้นเลือดทำให้เป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบ และเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
อย่างที่เราบอกไปแล้วว่า โรคนี้มักจะสะสมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะกระทบกับอวัยวะอื่น โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคนี้มาก่อน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรครูมาตอยด์ ควรเข้ารับการตรวจเพื่อดูว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงหรือไม่
เมื่อพบว่าเรามีปริมาณไขมันในเลือดสูงแน่นอนว่าหากทิ้งไว้คงมีแต่ต้องเผชิญผลเสียที่อาจตามมานับไม่ถ้วน การปฏิบัติตนอาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลายอย่างที่อาจไม่คุ้นชิน แต่ถ้าไม่ปรับ เราคงไม่หาย จริงไหมล่ะ ดังนั้นมาดูกันเถอะว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องปรับหากเราเกิดเป็นไขมันในเลือดสูงขึ้นมา
อย่างแรกเลยเราต้องลดอาหารที่ไม่มีประโยชน์กับร่างกายทั้งของหวาน อาหารจำพวกแป้งหรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เพื่อให้น้ำหนักของตัวเราลดลง งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายด้วยการวิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ เพื่อมีจุดประสงค์ให้คอเลสเตอรอลดีสูงขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะ เพราะก่อนเราออกกำลังกายต้องวัดสมรรถภาพของหัวใจของเราก่อนด้วย และสุดท้ายควรบริโภคน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลืองแทนการรับไขมันจากสัตว์
หากวิธีที่กล่าวมานั้นไม่เป็นผลในระยะ 2 เดือน เราอาจต้องพึ่งตัวยาในการรักษาร่วมด้วย แต่ต้องปรึกษาและรับคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิดถือเป็นดีที่สุด และระวังหากอาการไขมันในเลือดสูงของเราเกิดมาจากโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น ควรเข้ารับการตรวจระดับไขมันในเลือดด้วย เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะอันตรายที่อาจตามมาไม่ว่าจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดแข็งตีบ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยนะ
การตรวจไขมันในเลือดเพื่อหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเราโดยมีวิธีเตรียมตัวที่เราต้องรู้ คือ ควรงดอาหารก่อนเข้ารับการเจาะเลือด 8 ชั่วโมงขึ้นไป โดยรอบการตรวจสำหรับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงควรตรวจครั้งแรกที่อายุไม่เกิน 11 ปี และครั้งที่สองอายุไม่เกิน 21 ปี หลังจากนั้นให้ตรวจทุก 4-6 ปี เป็นประจำ แต่หากตรวจในผู้ที่มีความเสี่ยงต้องตรวจตามที่แพทย์สั่ง โดยปกติจะอยู่ที่ทุก 1-3 เดือน แต่หากมีอาการที่คงที่หายห่วงแล้วอาจตรวจทุก 6 เดือนแทน โดยการตรวจแพทย์จะทำการเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำบริเวณข้อพับแขนหรือที่ปลายนิ้วนั่นเอง
เรารู้กันแล้วใช่ไหมว่าระดับไขมันในเลือดสูงสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้หลายแบบและรุนแรงเสียด้วย การดูแลสุขภาพและหมั่นตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรปฏิบัติเป็นประจำ
_____________________________
ติดต่อแผนกอายุรกรรม
วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00-20.00 น. (ติดต่อลงทะเบียนก่อนเวลา 19.30 น.)
ตึก/ชั้น : A/16
เบอร์ติดต่อ : 1390