9 ข้อควรรู้ของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
9 ข้อควรรู้ของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

อัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นโรคที่น่ากลัวในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะวัยนี้เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคทางสมองมากกว่าวัยอื่น หากเป็นแล้วจะทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยติดเตียง และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้น ๆ แม้โรคนี้จะเป็นโรคที่ดูน่ากลัวแต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ และควรทำความเข้าใจโรคนี้เพื่อให้ตัวเรา และคนในครอบครัวห่างไกลจากโรคร้ายนี้ด้วย ดังนั้นเรามาดู 9 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเพื่อลดความเสี่ยงของโอกาสการเกิดโรคนี้กัน

 

1. อัมพฤกษ์ อัมพาตคืออะไร

 

อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ cerebrovascular accident (CVA) เป็นอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง หรือ Stroke เกิดจากการที่เซลล์สมองขาดเลือด โดยมีสาเหตุจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน (ischemic stroke หรือ thrombosis)  ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากถึง 80% และอีก 20 % คือสาเหตุจากการมีเลือดออกในสมอง (bleeding หรือ haemorrhage)

 

2. อัมพฤกษ์ อัมพาต ต่างกันอย่างไร

 

โรคทั้งสองเป็นโรคที่เราได้ยินชื่ออยู่บ่อย ๆ บางคนอาจจะคิดว่าเป็นโรคเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นคนละโรคกัน โดยมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • โรคอัมพฤกษ์ คือ ภาวะที่แขน หรือขาอ่อนแรง แต่ยังพอใช้งานได้ เกิดความรู้สึกชาตามอวัยวะต่าง ๆ เป็นบางครั้ง
  • โรคอัมพาต คือ ภาวะที่แขน หรือขาไม่มีแรง ใช้งานไม่ได้ กล่าวคืออัมพฤกษ์จะยังสามารถขยับร่างกายได้ แต่อัมพาต ไม่สามารถขยับได้เลย

 

3. อาการของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

อาการสมองขาดเลือดจะมีความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเป็น ดังนี้

  • อาการน้อย เซลล์สมองยังไม่ถูกทำลาย โดยจะเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงขึ้นเฉพาะจุด เช่น อาจจะเป็นที่แขนอย่างเดียว หรือที่ขาอย่างเดียว เป็นต้น นอกจากนี้จะมีอาการเคลื่อนไหวช้าลง มุมปากตก อมน้ำไว้ในปากไม่ได้ ความจำเสื่อมชั่วขณะ พูดไม่ชัด
  • อาการอัมพฤกษ์ เซลล์สมองถูกทำลายไปแล้วบางส่วน โดยจะมีอาการตามัว สูญเสียความทรงจำ หงุดหงิดง่าย ความสามารถในการตัดสินใจ และการคำนวณลดลง เป็นต้น
  • อาการอัมพาต เซลล์สมองถูกทำลายถาวร โดยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือไม่สามารถขยับได้ พูดไม่ได้ กล้ามเนื้อหน้าทำงานไม่เท่ากัน หนังตาตก ตอบสนองช้า เป็นต้น

 

4. ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

โรคหลอดเลือดสมองไม่ได้น่ากลัวเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงจะสามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุมากกว่า 45 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น

 

อัมพฤกษ์ อัมพาต

 

5. ความดันโลหิตสูงเสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตก

 

ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งหลอดเลือดสมองตีบ และแตก โดยโรคหลอดเลือดสมองแตกมักมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูงเป็นส่วนใหญ่

 

6. เส้นเลือดสมองตีบรักษาได้ไหม

 

โรคเส้นเลือดสมองตีบสามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที โดยแพทย์จะมีการรักษาที่หลากหลาย ทั้งการให้ยาสลายลิ่มเลือด (Tissue plasminogen activator, tPA) ทางหลอดเลือดดำภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ หรือการทำ Mechanical Thrombectomy คือการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดสมองเพื่อนำก้อนเลือดที่อุดตันออกมา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หรือสามารถรักษาให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น

 

7. โรคหลอดเลือดสมองสามารถตรวจได้ไหม

 

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จึงไม่สามารถตรวจได้ว่าเราจะเป็นโรคนี้หรือไม่ แต่สามารถตรวจหาความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง

 

8. การป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

  • งดการดื่มสุรา และสูบบุหรี่
  • หมั่นออกกำลังกายเพื่อรักษาน้ำหนักให้ตรงตามเกณฑ์เสมอ
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ควรควบคุมให้น้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตเป็นปกติ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และลดอาหารที่มีรสเค็ม หรือหวานจัด
  • หมั่นตรวจสุขภาพ และพบแพทย์เป็นประจำเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

9. สัญญาณอัมพฤกษ์ อัมพาต
 

  • มีอาการชา หรือแขนขาอ่อนแรง
  • ตามัว หรือมองไม่เห็น
  • พูดไม่เข้าใจ หรือพูดไม่รู้เรื่อง
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

หากเกิดอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ภายใน 4.5 ชั่วโมง เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที

 

โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงพิการ และเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือน หากพบว่าคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวมีอาการเข้าข่ายของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

โรคหลอดเลือดสมอง รู้ก่อนอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI