โรคดื้อ ต่อต้านในเด็กที่พ่อแม่ต้องสังเกต
โรคดื้อ ต่อต้านในเด็กที่พ่อแม่ต้องสังเกต

“เด็กดื้อมักจะฉลาด” เพราะเด็กดื้อมักจะมีความคิดเป็นของตนเอง แต่บางครั้งพฤติกรรมดื้อ ไม่เชื่อฟังของเด็กอาจสร้างความลำบากใจให้กับคนดูแล หรือผู้ปกครองได้ พ่อแม่บางคนอาจคิดว่าเด็กดื้อเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเฉพาะเด็กสมัยใหม่ที่มักจะมีพัฒนาการ รวมถึงการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว แต่หากปล่อยเอาไว้เป็นเวลานานอาจส่งผลให้เด็กกลายเป็น ”โรคดื้อต่อต้าน” และส่งผลต่อพฤติกรรมในช่วงวัยรุ่นจนสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้างได้

 

โรคดื้อต่อต้านคืออะไร

 

โรคดื้อต่อต้าน หรือ ODD (Oppositional Defiant Disorder)  เป็นความผิดปกติในการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็กต่อผู้ปกครอง หรือครู โดยมักจะพบโรคนี้ในเด็กที่มีอายุในช่วง 6-8 ปี และมักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง หรือพบในวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ สาเหตุของโรคอาจเกิดจากพันธุกรรม ระบบประสาท หรือสภาพแวดล้อม เช่น การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว การเลี้ยงลูกผิดวิธี หรือการถูกรังแก เป็นต้น

 

อาการที่เข้าข่ายเป็นโรคดื้อต่อต้าน 

 

  • โกรธง่าย อารมณ์รุนแรง มีความอดทนต่ำ ขี้หงุดหงิด มีอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา และมักจะระเบิดอารมณ์ออกมาเมื่อรู้สึกไม่พอใจ
     
  • พูดจาหยาบคาย ชอบเถียงพ่อแม่ ไม่ยอมรับฟัง หรือไม่ทำตามคำขอของผู้ปกครอง รวมทั้งไม่ยอมรับผิด และชอบกล่าวโทษคนอื่นทั้ง ๆ ที่เป็นความผิดของตนเอง
     
  • ตั้งใจก่อกวน ก่อความรำคาญ หาเรื่องทะเลาะวิวาท คุกคามผู้อื่น หากรู้สึกโกรธใครจะหาทางตอบโต้ หรือกลั่นแกล้งอีกฝ่ายด้วยเจตนาที่ไม่ดี

 

โรคดื้อต่อต้าน

 

หากเด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้มานานกว่า 6 เดือนอาจเข้าข่ายเป็นโรคดื้อต่อต้านที่ต้องรับการแก้ไขโดยด่วน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเด็ก และคนรอบข้างในอนาคตน้อยที่สุด

 

สิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรปฏิบัติเมื่อพบว่าลูกเป็นโรคดื้อต่อต้าน

 

บางครอบครัวเมื่อพบว่าลูกเกิดพฤติกรรมต่อต้านอาจมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องอาจส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่แย่ลงไปอีก โดยสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรปฏิบัติมีดังนี้

                                      

  • ปล่อยเด็กให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะคิดว่าน่าจะดีขึ้นเอง
  • ไม่ขัดใจลูก เพราะกลัวว่าลูกจะเครียดแล้วหนีออกจากบ้าน
  • ลงโทษรุนแรง หรือด่าทอด้วยคำหยาบคาย
  • ดัดนิสัยด้วยการส่งลูกให้ไปอยู่กับญาติ หรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ

 

แนวทางการแก้ไขพฤติกรรมโรคดื้อต่อต้าน

 

สิ่งที่สำคัญของโรคนี้คือการใส่ใจ และการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว การแก้ไขโรคนี้จึงต้องเริ่มจากครอบครัวเป็นหลัก โดยควรปฏิบัติดังนี้

  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เริ่มตั้งแต่ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจในตัวลูก รวมถึงต้องทำความเข้าใจโรคที่ลูกเป็น โดยต้องใช้เวลาและความรักแก่ลูก อาจร่วมกันทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อใช้เวลาร่วมกันภายในครอบครัว
     
  • การปรับพฤติกรรม พ่อแม่ควรปรับพฤติกรรมให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจ และความรุนแรงกับลูก เสริมแรงทางบวก หากลูกมีพฤติกรรมที่ดีควรเอ่ยชื่นชม
     
  • การฝึกวินัย  โดยเฉพาะเรื่องการกินและการนอนให้เป็นเวลา รวมถึงกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ ในครอบครัวอย่างสมเหตุสมผล มอบหน้าที่ให้ลูกรับผิดชอบ เช่น การทำงานบ้าน เป็นต้น
     

หากมีการแก้ไขและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันภายในครอบครัวแล้ว แต่เด็กยังไม่ดีขึ้นควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อวางแนวทางแก้ไขให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และหายจากโรคดื้อต่อต้าน