ฝีมะม่วง ภาวะแทรกซ้อนของฝีคัณฑสูตร
ฝีมะม่วง ภาวะแทรกซ้อนของฝีคัณฑสูตร

ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum : LGV) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เรื้อรัง ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis bacterium) เมื่อเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้เข้าสู่ผิวหนัง จะเกิดแผลที่อวัยวะเพศ และทวารหนัก น้ำเหลืองบริเวณขาหนีบจะโตขึ้นเป็นก้อน สร้างความเจ็บปวด และมีปัญหาในการเดิน ซึ่งฝีมะม่วงมีความสัมพันธ์กับเกิดภาวะแทรกซ้อนโรคฝีคัณฑสูตร (Fistula)  หากรูทวารเกิดการอักเสบ มีแผล ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตลอดเวลา ขับถ่ายถ่ายลำบาก ท้องร่วง และรูทวารตีบตันได้

 

 

สาเหตุในการเกิดฝีมะม่วง

 

ฝีมะม่วงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามีเดียทราโคมาติส ชนิด L1, L2, L3 (Chlamydia Tracho matis L1-L3) จากการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางปาก ทวารหนัก และช่องคลอด หรือการสัมผัสหนองของฝีมะม่วงโดยตรง  โดยจะมีระยะฟักตัว 3 วัน-6 สัปดาห์ นับตั้งแต่ได้รับการติดเชื้อ มักจะเกิดแผลอวัยวะเพศ และทวารหนักในช่วง 10-14 วัน หลังจากได้รับเชื้อ และเกิดอาการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลืองในช่วง 10-30 วัน หลังจากได้รับเชื้อมัก ฝีมะม่วงจะเกิดในกลุ่มบุคคลที่ขายบริการทางเพศ บุคคลที่มีรสนิยมรักร่วมเพศแบบชายรักชาย และผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน อีกทั้งผู้ที่ไม่ป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือพฤติกรรมที่มีการใช้น้ำยาสวนล้างทวารบ่อยๆ

 

 

อาการของฝีมะม่วง

 

ฝีมะม่วงแบ่งอาการออกเป็น 3 ระยะ

 

ระยะแรก ช่วง 3-30 วันแรกของการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะแสดงอาการดังนี้

 

  • มีตุ่มนูนเล็กๆ หรือแผลถลอก บริเวณปลายอวัยวะเพศชาย อวัยวะเพศหญิงด้านนอก และริมฝีปาก หากมีการทำกิจกรรมทางเพศด้วยปาก ซึ่งแผลเหล่านี้จะหายไปภายใน 2-3 วัน

 

  • ผู้ป่วยบางรายจะอาการแสบขณะปัสสาวะ

 

ระยะที่ 2 หลังจาก 2-3 สัปดาห์จากระยะแรก และจะแสดงอาการประมาณ 10-13 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการดังนี้

 

  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวม แดง ใหญ่เป็นก้อน กลายเป็นฝีมะม่วง อาจจะมีหนองแตกออกสู่ผิวหนังด้านนอก อาการจะทุเลาขึ้นภายใน 8-12 สัปดาห์ มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยเพศชาย

 

  • ผู้ที่ติดเชื้อบริเวณริมฝีปาก จะได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อบริเวณต่อมน้ำลาย และต่อมน้ำเหลืองตรงกระดูกสันหลังคอ

 

  • ผู้หญิงที่ติดเชื้อจะมีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองที่โตเป็นส่วนที่อยู่ในช่องท้อง

 

  • ผู้ที่ติดเชื้อบริเวณทวารหนัก จะมีอาการท้องเสีย ท้องผูก ขับถ่ายเป็นเลือด มีอาการปวดขณะเบ่งอุจจาระ เป็นต้น

 

  • นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ตับ และม้ามโต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากการที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด

 

ระยะที่ 3 อาการของฝีมะม่วงในระยะนี้จะแสดงอาการ หลังจากติดเชื้อไปแล้วหลายเดือน จนถึง 20 ปี ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการดังนี้

 

  • ลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรงมีการอักเสบ

 

  • มีมูกเลือดปนกับหนอง ไหลออกทางรูทวารหนัก ร่วมกับอาการคัน ท้องผูก ปวดลำไส้ตรงเหมือนจะถ่ายหนักตลอดเวลา

 

  • หากบริเวณฝีเย็บมีหนองแตกออกจากต่อมน้ำเหลือง ส่งผลให้เนื้อเยื่อไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ไส้ตรงจึงเกิดการตีบตันขึ้น  อวัยวะเพศอาจมีการผิดรูป

 


 

ภาวะแทรกซ้อนของฝีมะม่วง

 

  • เกิดโรคฝีคัณฑสูตร (Fistula)  เกิดความเสียหายเป็นรูขึ้น บริเวณทวารหนักตรงจุดที่เชื่อมต่อระหว่างลำไส้ตรงกับช่องคลอด หรือแผลเป็นขนาดใหญ่ที่บริเวณขาหนีบ

 

  • มีอาการบวมของอวัยวะเพศภายนอก จากการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณอวัยวะเพศ

 

  • เกิดพังผืดบริเวณอวัยวะเพศทั้งชาย และหญิง

 

  • เกิดการอักเสบบริเวณ สมอง ดวงตา หัวใจ และตับ รวมทั้งอาการปอดบวม

 

  • ลำไส้อุดตัน จากการที่ลำไส้ตรงมีแผล และเกิดการตีบตัน

 

 

ฝีมะม่วง

 

 

การรักษาฝีมะม่วง

 

การรักษาด้วยยา

 

การรักษาการติดเชื้อ และป้องกันเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ ด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่

 

  • ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ผู้ป่วยจะได้รับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 มิลลิกรัม  ภายใน 21 วัน

 

  • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ผู้ป่วยได้รับการใช้ยาในปริมาณ 2 กรัม ภายใน 20 วัน

 

การผ่าตัด

 

  • แพทย์จะทำการเจาะเอาของเหลวบริเวณฝีออกมา เพื่อให้อาการของโรคฝีมะม่วงทุเลาลง

 

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีอาการลำไส้ตรงตีบ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างรุนแรง จำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัด

 

  • หลังจากการผ่าตัดหากผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์ ควรป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง อีกทั้งควรมาพบแพทย์ตามนัดหมาย จนกว่าอาการติดเชื้อจะหายเป็นปกติ

 

การรักษาแบบประคบฝี

 

  • ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น แล้วบิดให้แห้งพอหมาดๆ ประคบบริเวณที่ปวดบวม ประมาณ 10-15 นาที และทำซ้ำทุกๆ 8 ชม

 

 

การป้องกันฝีมะม่วง

 

  • ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

 

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ และกิจกรรมทางเพศ กับผู้ที่ติดเชื้อฝีมะม่วง

 

  • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน

 

  • ควรชำระล้างร่างกาย และอวัยวะเพศ รวมทั้งควรดื่มน้ำ และรับประทานยาปฏิชีวนะ หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือหลังจากการทำกิจกรรมทางเพศ

 

 

โรคฝีมะม่วงนี้ มีความสัมพันธ์กับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายๆโรค เช่น โรคเอดส์ โรคหนองใน โรคซิฟิลิส รวมทั้งความเชื่อโบราณที่เล่ากันปากต่อปากว่า ในการรักษาผู้ป่วยโรคฝีมะม่วง ไม่ควรรับประทานอาหารทะเล หูฉลาม รวมทั้งหน่อไม้ และสาเก เพราะจะทำให้แผลหนองรักษาไม่หาย ทางการแพทย์ยังไม่มีการวิจัยที่ยืนยันอย่างแน่ชัด แต่แพทย์ยืนยันชัดเจนในการรักษาผู้ป่วยโรคฝีมะม่วงว่า ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้หนองไหลมากขึ้น  และจะทำให้ขาดสติไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอีก ส่งผลให้คู่นอนนั้น เกิดการติดเชื้อฝีมะม่วง

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ผ่าตัดฝีคัณฑสูตร (Fistulotomy) ราคา 45,000 บาท