ผู้ป่วยโรคหัวใจห้ามกินอะไร
ว่าด้วยเรื่องผู้ป่วยโรคหัวใจกับอาหารการกิน

ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองในทุกด้านรวมไปถึงด้านอาหารการกินที่ต้องเน้นประโยชน์เพิ่มไขมันดี HDL และหลีกเลี่ยงไขมันไม่ดี LDL หมั่นทานผักผลไม้ที่รสไม่หวานมาก พยายามควบคุมระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดมากขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ป่วยโรคหัวใจ

 

โรคหัวใจ ห้ามกินอะไรบ้าง

 

  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันและคอเลสเตอรอลสูง : ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเบเกอรี่ พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ หรืออาหาร Fast Food เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะเพิ่มไขมัน LDL รวมไปถึงงดดื่มแอลกอฮอล์ หรือน้ำหวาน เครื่องดื่มเหล่านี้จะเพิ่มไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ซึ่งเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังต้องเลี่ยงอาหารแปรรูปไขมันสูง เช่น เบคอน ไส้กรอก และไขมันสัตว์จากเมนูอาหาร เช่น ข้าวมันไก่ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด : โดยเฉพาะอาหารรสเค็มและหวานจัดไม่เหมาะต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ได้แก่ อาหารที่มีส่วนผสมโซเดียมสูงมีส่วนประกอบของผงชูรสเป็นจำนวนมาก หรืออาหารดองหรือปรุงแต่งให้เค็ม เช่น ปลาเค็ม ผักดอง เป็นต้น รวมไปถึงอาหารรสหวานจัดควรทานให้น้อยลงทั้งทุเรียน ขนุน และขนมหวานต่าง ๆ

 

เป็นโรคหัวใจควรกินอะไรบ้าง

 

  • ทานอาหารที่มีกากใยอาหาร : เนื่องจากอาหารประเภทนี้มีส่วนช่วยลดการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ อาหารที่มีกากใยอาหารพบได้มากในธัญพืช ผักและผลไม้ที่รสไม่หวานมาก และเลือกทานข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือเป็นหลัก
  • ทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ : เนื่องจากเนื้อสัตว์ส่วนมากจะถูกนำไปปรุงอาหารส่งผลให้มีปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจควรเลือกทานปลาทะเล หรือทานเนื้อสัตว์ส่วนที่ไม่ติดมัน
  • ให้ความสำคัญกับน้ำมัน : ผู้ป่วยโรคหัวใจควรระมัดระวังเรื่องการใช้น้ำมันในการประกอบอาหารใช้น้ำมันหมู หรือน้ำมันปาล์มทำอาหารไม่ควรใช้เยอะ และไม่ควรทานบ่อย ให้ใช้น้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันคาโนล่าแทนเนื่องจากมีไขมันดี HDL สูง

 

โรคหัวใจ ห้ามกินอะไรบ้าง

 

ผู้ป่วยโรคหัวใจกินอาหารในพลังงานที่เหมาะสม

 

การบริโภคอาหารให้ได้พลังงานในแต่ละวันจะแตกต่างกันตามวัยและเพศเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคหัวใจควรรู้ ดังนี้

  • วัยรุ่นชายหญิง และชายวัยทำงาน : ควรได้รับพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน
  • หญิงวัยทำงาน ผู้สูงอายุ : ควรได้รับพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรีต่อวัน
  • ประกอบอาชีพเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และนักกีฬา : ควรได้รับพลังงาน 2,400 กิโลแคลอรีต่อวัน

 

กินกระเทียมช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้

 

เนื่องจากในกระเทียมมีสารชื่อ “อัลลิซิน (Allicin)” ที่สามารถช่วยลดการสะสมคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจรวมไปถึงช่วยลดภาวะการแข็งตัวของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอุดตัน โดยการทานกระเทียมต้องทานแบบสด ๆ บดให้ละเอียดประมาณ 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชา พร้อมกับตอนทานอาหารวันละ 3 เวลา กระเทียมไม่ควรถูกผัดหรือทอดและไม่ควรทานตอนท้องว่าง

 

อาหารที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหัวใจ

 

สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคหัวใจนอกจากจะต้องออกกำลังกาย หมั่นตรวจสุขภาพ การทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงถือเป็นทางเลือกที่ไม่ควรมองข้ามทั้งวิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินซี

  • วิตามินเอ : แครอท ฟักทอง ผักโขม บรอกโคลี ผักบุ้ง แคนตาลูป ลูกพีช มะม่วง เป็นต้น
  • วิตามินอี : จมูกข้าวสาลี อัลมอนด์  น้ำมันบางชนิด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน หรือน้ำมันดอกคำฝอย เป็นต้น
  • วิตามินซี : ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กีวี่ มะนาว มะเขือเทศ ถั่วงอก และกะหล่ำปลี เป็นต้น

การดูแลตนเองไปจนถึงการกินร่วมกับวิธีออกกำลังกาย และการตรวจสุขภาพจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ และเป็นวิธีการดูแลตนเองที่ดีสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ

 

_______________________________
 

 

ศูนย์หัวใจ