โรคน้ำกัดเท้า
โรคน้ำกัดเท้า เชื้อราที่มาพร้อมกับน้ำท่วม

“ฝนตก น้ำท่วม รถติด” คือวิถีชีวิตที่เราต้องเผชิญทุกครั้งเมื่อเข้าสู่หน้าฝน สายฝนที่โปรยปรายลงมามักจะตามมาด้วยน้ำท่วมขังที่มักจะสร้างความยากลำบากให้กับผู้ที่ต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน หรือไปเรียนต้องเดินลุยน้ำออกไป โดยน้ำที่ท่วมขังนั้นมักจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่มาก ซึ่งสิ่งสกปรกเหล่านั้นจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนังที่ชื่อว่า “โรคน้ำกัดเท้า” นั่นเอง

 

โรคน้ำกัดเท้าคืออะไร

 

โรคน้ำกัดเท้า (Athlete's Foot) หรือฮ่องกงฟุต เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคขี้กลาก นั่นคือ เชื้อราในสายพันธ์ุ Dermatophytes โดยเชื้อราชนิดนี้จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่เปียกชื้น เช่น รองเท้าที่ลุยน้ำท่วม พื้นห้องอาบน้ำ หรือพื้นบริเวณสระว่ายน้ำ เป็นต้น เมื่อเราใส่รองเท้าที่มีเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตอยู่จะทำให้เกิดโรคน้ำกัดเท้านั่นเอง

นอกจากนี้เชื้อราชนิดนี้ยังสามารถติดเชื้อได้จากการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น รองเท้า ถุงน้ำ ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ซึ่งเชื้อราชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะในส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย

 

อาการของโรคน้ำกัดเท้า

 

จะเกิดอาการที่พบได้บ่อยในง่ามนิ้วเท้า โดยอาการในระยะแรกที่ยังไม่มีการติดเชื้อนั้นเท้าจะมีลักษณะเปื่อย แดง และลอกเพราะเกิดการระคายเคือง แต่ถ้าหากมีอาการคันและเกาจนเกิดเป็นแผลจะมีการอักเสบ และติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งการติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการแสบร้อน ปวด แผลเป็นหนอง ผิวเป็นขุย และลอกออกเป็นแผ่นสีขาว อาจมีกลิ่นเหม็นตามซอกเท้า

 

น้ำกัดเท้า

 

การรักษาโรคน้ำกัดเท้า

 

รักษาเท้าให้สะอาด ล้างเท้าให้สะอาด พยายามเช็ดแผลให้แห้ง ไม่ควรสวมรองเท้าปิด หรือใส่ถุงเท้า เปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ที่แห้งและสะอาด ใช้ครีม หรือขี้ผึ้งกันเชื้อรา หรือโรยแป้งที่เท้าเพื่อไม่ให้เท้าเปียกชื้น หากแผลติดเชื้อราสามารถรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วยได้ ซึ่งหากแผลติดเชื้อจะต้องรับประทานยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์แต่หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์

 

ข้อปฏิบัติในการป้องกันน้ำกัดเท้า

 

  • หลีกเลี่ยงการยืนแช่น้ำเป็นเวลานาน
  • เมื่อต้องลุยน้ำ ควรสวมถุงพลาสติก หรือสวมถุงดำหุ้มเท้าไว้เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา และป้องกันของมีคมทิ่มแทงเท้า
  • หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำโดยไม่ได้สวมถุงพลาสติก เมื่อลุยน้ำแล้วควรรีบทำความสะอาดเท้า และเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าที่มักจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น รองเท้าแตะ ถุงเท้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลี่ยงการลุยน้ำ เพราะหากเกิดแผลจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และรักษาให้หายได้ยากกว่าคนปกติ
  • หากเกิดบาดแผลลึกควรรีบทำความสะอาดแผลทันที หรือเข้าใช้บริการที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อทำแผล และหากบาดแผลมีหนอง หรือเกิดการอักเสบควรรีบพบแพทย์ทันที

 

การเดินลุยน้ำท่วมขังอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ง่าย แต่มีวิธีป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยข้อปฏิบัติที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้การหมั่นรักษาความสะอาดร่างกายยังเป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล