โรคเบาหวาน (Diabetes) คือ โรคที่ทุกคนมีความเสี่ยงไม่แพ้โรคอื่น เนื่องจากโรคนี้เกิดจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง แม้ว่าเราจะไม่ได้อ้วน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากสาเหตุมาจากปัญหาด้านอินซูลินในร่างกายที่มีน้อยกว่ามาตรฐาน เป็นผลให้น้ำตาลในร่างกายมีปริมาณมาก จนก่อเกิดโรคเบาหวานในที่สุด
โรคเบาหวานมีอยู่ 2 ชนิด และสาเหตุเกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ หรือสร้างได้น้อย ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะทำหน้าที่เผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับร่างกาย แต่เมื่อฮอร์โมนอินซูลินมีน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลได้ ส่งผลให้กระแสเลือดมีน้ำตาลมากจนเกินไป เมื่อถูกกรองออกผ่านทางปัสสาวะ จะทำให้มีมดมาตอมปัสสาวะของเรา
ถึงแม้โรคนี้จะมีโอกาสเป็นได้ง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าโรคดังกล่าวมีแค่ชนิดเดียว ในที่นี้จะจำแนกออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
โรคเบาหวานชนิดที่ 1
ส่วนมากจะพบในกลุ่มคนที่มีอายุน้อย คือ ช่วงวัยเด็ก ไปจนถึงกลุ่มคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ตามปกติ ผู้ป่วยในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักมีร่างกายที่ซูบผอม และต้องทำการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเป็นประจำ หากผู้ป่วยเกิดอาการขาดอินซูลิน จะทำให้เกิดภาวะ Ketusisc คลั่งในเลือด และอาจหมดสติได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยในเบาหวานชนิดที่ 1 มีโอกาสเป็นภาวะคิโตซิส (Ketosis) อีกด้วย
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
เป็นชนิดที่เกิดขึ้นกับคนไทยมากที่สุด และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีรูปร่างอ้วน หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยสาเหตุมาจากการที่ภาวะร่างกายดื้ออินซูลิน (ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดี) ถ้าหากร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ จะพยายามให้ตับอ่อนสร้างอินซูลินเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้ตับอ่อนทำงานหนักมากจนเกินไปนั่นเอง
โรคเบาหวานชนิดอื่นจากสาเหตุต่าง ๆ
สาเหตุต่าง ๆ ในที่นี้ เช่น การใช้ยาบางชนิด คือ สเตียรอยด์ หรือสารเคมีอื่นที่มีผลทำให้เสี่ยงเกิดโรค หรือจะเป็นการติดต่อมาผ่านทางพันธุกรรมได้เช่นกัน รวมไปถึงการเป็นโรคที่ส่งผลต่อตับอ่อนโดยตรง เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เกิดจากการที่ขณะตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการผลิตสารต่อต้านอินซูลิน ในจุดนี้หากผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่สามารถเพิ่มอินซูลินในร่างกายให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะมีผลต่อมารดา และทารกในครรภ์ได้ เช่น เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ, คลอดก่อนกำหนด และอาจเกิดสภาวะน้ำตาลต่ำหลังคลอด เป็นต้น ซึ่งหากได้ทำการคลอดลูกเรียบร้อยแล้ว อาจทำให้อาการสุ่มเสี่ยงลดน้อยลง แต่ควรหมั่นเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเสริมความมั่นใจได้เช่นกัน และโรคชนิดนี้ส่วนมากจะเกิดจากผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคเบาหวานอีกด้วย
บุคคลที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
บุคคลที่มีคนในครอบครัวสายตรง ซึ่งมีประวัติการเป็นโรคเบาหวาน
บุคคลที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23 และสัดส่วนรอบเอวที่มีต่อส่วนสูงมากกว่า 0.5
บุคคลที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคความดัน และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย เกิดจากตอนปัสสาวะ น้ำตาลจะดึงน้ำจากเลือดออกมาด้วย จะส่งผลให้ผู้ป่วยกระหายน้ำมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ร่างกายซูบผอมลง เนื่องจากร่างกายไม่มีพลังงานจากน้ำตาล จึงหันไปเผาผลาญไขมัน และกล้ามเนื้อแทน ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีร่างกายเริ่มซูบผอม และไม่มีแรง เมื่อมีน้ำตาลในเลือดมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
สายตาพร่ามัว เนื่องจากจอตาเสียหายจากน้ำตาลในเลือดที่มากเกินไปในระดับรุนแรงที่สุด อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
ภาวะแทรกซ้อนที่พบมาก คือ ภาวะเบาหวานขึ้นตา เมื่อน้ำตาลในเลือดมีปริมาณมาก จะทำให้เส้นเลือดที่จอตาเกิดความเสียหาย ในช่วงแรกอาจไม่มีผลต่อการมองเห็นมาก แต่หากปล่อยทิ้งไว้ต่อไปเป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด ดังนั้นจึงควรเข้าพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ
โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้มีอาการรุนแรง โดยปกติหากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลิน แพทย์จะให้สารอินซูลินสังเคราะห์ ร่วมกับแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และหมั่นออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรบางชนิด ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เช่น ตำลึง, มะระขี้นก, มะแว้งต้น, ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และกากใยอาหาร เช่น ผัก, ผลไม้, อาหารที่มีไขมันต่ำ, ไข่ และถั่ว เป็นต้น
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต, ไขมัน และโซเดียมสูง ไม่ควรทานหวานมากจนเกินไป หากเป็นเนื้อสัตว์ควรทานเนื้อสีขาว ไม่ติดมัน เช่น ปลา, ไก่ เป็นต้น
ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน
ออกกำลังกายเป็นประจำ
ถึงแม้โรคเบาหวานจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองให้มากขึ้น รวมไปถึงการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
โปรแกรมตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน