โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคอันตรายในหน้าร้อน
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคอันตรายในหน้าร้อน

ในฤดูร้อนแบบนี้นอกจากอากาศจะร้อนแล้วยังมีโรคที่มีความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงอากาศร้อน ๆ แบบนี้หนึ่งในโรคที่ว่านั้นคือ “โรคพิษสุนัขบ้า(Rabies)” แต่ถึงจะมีคำว่า “สุนัข” อยู่ในชื่อโรค นั่นไม่ได้หมายความว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นจากสุนัขได้แต่เพียงเท่านั้น เพราะสามารถเกิดได้กับทั้งสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นแมว ม้า แกะ หรือเกิดจากสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน การเตรียมพร้อมรับมือกับโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราอาจต้องเรียนรู้เอาไว้ก่อน

 

โรคพิษสุนัขบ้ามาจากไหน

 

สาเหตุของการเกิดโรคนี้มาจากเชื้อไวรัสชื่อ “เรบีส์” โดยโรคนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งมีชีวิตอื่นที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ ด้วยการกัดจากสัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสโดยเฉพาะสุนัขและแมว หากผู้ที่ถูกกัดหรือสัมผัสกับน้ำลายตรงบริเวณที่มีบาดแผล จะทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแค่นั้นความเสี่ยงของโรคนี้ยังเกิดจากการไปยังพื้นที่การระบาดของเชื้อไวรัส หรือผู้ที่ต้องคลุกคลีอยู่กับสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตวแพทย์ และผู้ที่อยู่ในห้องทดลองเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้ามีอันตรายสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า

 

ในช่วงแรกของการติดเชื้อไวรัสผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการที่สังเกตได้โดยโรคนี้จะมีระยะการฟักตัวตั้งแต่ 4 วันจนถึง 12 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษาในระยะนี้จะไม่สามารถรักษาได้แล้ว เป็นสาเหตุสู่การเสียชีวิตในที่สุด โดยความรวดเร็วในการแพร่เชื้อในร่างกายจะขึ้นอยู่กับขนาดแผลที่กัดและบริเวณที่กัด หากแผลที่กัดมีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้สมองจะส่งผลให้เชื้อสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยอาการช่วงแรกจะมีความคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่และจะมีลักษณะอาการทั้ง 2 แบบ ดังนี้

  • กลุ่มอาการแบบสมองอักเสบ กลุ่มอาการชนิดนี้มักพบได้ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยในโรคนี้ โดยจะมีอาการกลัวน้ำ ไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ กลืนอาหารลำบาก กล้ามเนื้อมีอาการเกร็งตามใบหน้าและลำคอ เหงื่อและน้ำลายหลั่งมากกว่าปกติ สมองอักเสบ และพูดไม่ค่อยชัด
  • กลุ่มอาการแบบอัมพาต ผู้ป่วยในกลุ่มนี้สามารถพบได้ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า โดยในรูปแบบนี้จะมีระยะของการแสดงอาการยาวนานกว่า ด้วยสาเหตุนี้เองกล้ามเนื้อของผู้ป่วยจะเสื่อมสภาพลงเป็นเหตุให้เกิดอาการอัมพาต และท้ายที่สุดจะเสียชีวิตนั่นเอง

 

โดยปกติแล้วเมื่อเข้าสู่ระยะของช่วงแสดงอาการและเข้าสู่ช่วงโคม่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์ โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาการหายใจจากกล้ามเนื้อแข็งตัว อาการชักจากสมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

 

พิษสุนัขบ้า

 

การรักษาโรคพิษสุนัขบ้า

 

การรักษาหรือการป้องกันเชื้อสามารถทำได้ด้วยการรีบพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยปกติแล้วการรักษาจะต้องสังเกตอาการของสมองและสัตว์ที่กัดว่ามีเชื้อไวรัสหรือไม่ หากสัตว์ที่กัดเคยรับวัคซีนมาก่อนอาจไม่จำเป็นที่ต้องทำการรักษา แต่หากยังไม่สามารถยืนยันผลที่แน่นอนแพทย์จะให้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าต่อไป โดยระยะเวลาและรอบการฉีดวัคซีนแต่ละครั้งจะต้องเป็นไปตามกำหนดที่แพทย์วางไว้ให้ ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ที่สุดคือ การรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งตัวของเรา และตัวของสัตว์เลี้ยง รวมถึงดูแลสัตว์เลี้ยงของตนไม่ให้ไปคลุกคลีกับสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่ฉีดวัคซีนด้วย

 

โรคนี้เป็นโรคที่มีความอันตรายต่อชีวิตสูงหากไม่รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน  อีกทั้งการฉีดวัคซีนยังทำได้ไม่ยาก ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าแก้แน่นอนค่ะ

__________________________________

 

ติดต่ออายุรกรรม

 

วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00-20.00 น. (ติดต่อลงทะเบียนก่อนเวลา 19.30 น.)
ตึก/ชั้น : A/16
เบอร์ติดต่อ : 1390