โซเดียมไนไตรท์สารอันตรายภายใต้ความอร่อยจากไส้กรอก
โซเดียมไนไตรท์สารอันตรายภายใต้ความอร่อยจากไส้กรอก

โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) คือ วัตถุเจือปนอาหาร ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด หรือเรียกกันว่าสารกันบูด มักจะอยู่ในอาหารแปรรูปจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก, แหนม และหมูยอ นอกจากนี้ยังทำให้เนื้อสัตว์แปรรูปมีสีแดงอมชมพูน่ารับประทานยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากได้รับสารนี้มากเกินไป จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถทำให้เสียชีวิตได้

 

 

โซเดียมไนไตรท์คืออะไร

 

โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) มีสูตรทางเคมีว่า NO2 เป็นสารประกอบประเภทอนินทรีย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาวออกเหลืองเล็กน้อย สามารถละลายน้ำได้ดี มีคุณสมบัติป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่ทำให้อาหารเกิดการเน่าเสีย และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์จำพวกคลอสตริเดียมบอทูลินั่ม (Clostridium botulinum) และ คลอสตริเดียมเปอร์ฟรินเจน (Clostridium perfringens)   

 

 

อันตรายจากโซเดียมไนไตรท์

 

กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้มีการใช้โซเดียมไนไตรท์ลงในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เพราะภายใน 1วัน ร่างกายจะสามารถรับโซเดียมไนไตรท์ได้ 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากได้รับมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ได้แก่

 

  • ปวดศีรษะ

 

  • อ่อนเพลีย

 

  • คลื่นไส้

 

  • อาเจียน

 

  • ปวดท้อง

 

  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

 

  • ความดันต่ำ

 

  • ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนในร่างกาย เกิดภาวะฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงทำงานผิดปกติ (Methemoglobinemia) ส่งผลให้เกิดอาการ หายใจไม่ออกหรือหายใจลำบาก ถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

  • หากโซเดียมไนไตรท์ทำปฏิกิริยากับเอมีนในเนื้อสัตว์แปรรูป เมื่อผ่านการปรุงสุกสามารถเกิดเป็นสารก่อมะเร็งไนโตรซามีนขึ้นได้

 

 

โซเดียมไนไตรท์ในด้านเภสัชกรรม

 

โซเดียมไนไตรท์ถูกนำมาใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน โดยนำยาโซเดียมไนไตรท์มาใช้ร่วมกับยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) สามารถเป็นยาแก้พิษของสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning) มีลักษณะเป็นยาฉีดที่มีใช้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น

 

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาโซเดียมไนไตรท์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน และต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

 

นอกจากนี้โซเดียมไนไตรท์ ยังถูกใช้เป็นส่วนผสมลงในยาฆ่าแมลง และเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมสี

 

 

โซเดียมไนไตรท์

 

 

การใช้โซเดียมไนไตรท์ให้ปลอดภัย

 

  • 1. เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีสีธรรมชาติ ไม่แดงจนเกินไป

 

  • 2. ควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย

 

  • 3. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อดู วัน เดือน ปี ที่ผลิต วันหมดอายุ ปริมาณ และชนิดของสารกันเสีย

 

  • 4. ล้างผักใบเขียว และผักอื่น หรือผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค เพื่อป้องกันสารโซเดียมไนไตรท์ตกค้าง

 

  • 5. ไม่ควรใช้ยาโซเดียมไนไตรท์กับผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ผู้ป่วยภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ควรระมัดระวังหากต้องการใช้ยา โซเดียมไนไตรท์

 

 

การป้องกันโซเดียมไนไตรท์เข้าสู่ร่างกายเกินขนาด  ไม่จำเป็นต้องงดอาหารที่มีเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ และแหนม เพียงแค่บริโภคร่วมกับอาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น นม ถั่ว ไข่ ธัญพืช และบริโภควิตามินซีเช่น ฝรั่ง คะน้า พุทรา กะหล่ำปลี เพียงเท่านี้จะช่วยให้ลดความเสี่ยงการเกิดโซเดียมไนไตรท์สะสมในร่างกายได้