Snoring Detail
Snoring Detail

การนอนกรนเป็นอาการที่สำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอวัยวะในระบบหายใจส่วนต้นบางส่วนแคบลงสามารถตรวจความรุนแรงได้ผ่านการทำ Sleep Test เพื่อหาระดับความเสี่ยงที่เป็นอันตราย หากพบว่ามีอาการไม่รุนแรงสามารถปรับพฤติกรรมการนอนเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นได้

 

นอนกรนเกิดจากอะไร

 

เกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย และผนังลำคอขณะหลับ ทำให้เกิดการอุดกั้นระบบทางเดินหายใจในบางจุดจนเกิดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เพดานอ่อน ผนังคอหอย โคนลิ้น รวมไปถึงลิ้นไก่ เมื่อระบบทางเดินหายใจแคบลงการหายใจผ่านบริเวณดังกล่าวจึงทำให้เกิดเสียงกลายเป็นการนอนกรนในที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถรุนแรงต่อการหายใจทำให้ไม่สามารถหายใจได้ชั่วขณะหนึ่งหรือเรียกว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงภาวะนอนกรน

 

ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่มีอาการนอนกรนอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย ได้แก่

 

  • พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • พบได้ในเพศหญิงส่วนมากในวัยหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่มีรูปหน้าเบี้ยว คางผิดปกติ หรือจมูกคด
  • โครงสร้างของช่องจมูกแคบ
  • มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมีผลทำให้ทางเดินหายใจแคบจนเกิดอาการนอนกรนได้
  • ผู้ที่มีโรคทางหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคภูมิแพ้
  • การทานยาที่ส่งผลต่อการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ

 

นอนกรนอย่างไรควรเข้าพบแพทย์

 

ผู้ที่เป็นภาวะนี้จะมีอาการโดยรวมไม่ใช่เพียงแค่การนอนกรนเท่านั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกเพื่อหาอากาศหายใจ และส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะในตอนเช้า ง่วงระหว่างวัน และบางรายอาจมีความต้องการทางเพศลดลง หากมีอาการดังกล่าวไม่ควรปล่อยไว้ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการนอนกรนต่อไป

 

นอนกรนแก้ยังไง

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอันตรายสูงสุดจากการนอนกรน

 

หากเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับที่รุนแรงจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ผ่านทางปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจวาย เป็นต้น หรือถ้าหากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วจะยิ่งเพิ่มโอกาสเสียชีวิตขณะหลับได้

 

การวินิจฉัยอาการนอนกรน

 

แพทย์จะทำการซักถามประวัติอาการ ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยอวัยวะอื่น ๆ ผ่านการเอกซเรย์ เช่น กะโหลก กระดูกใบหน้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยอาการนอนกรนได้จากการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) หรือที่เรารู้จักกันดีว่า Sleep Test หากพบว่าอาการดังกล่าวไม่ได้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับระดับรุนแรงร่วมด้วย ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ถ้าหากพบว่ามีความเสี่ยงในระดับที่อันตรายต้องหาแนวทางในการรักษาโดยเร็วที่สุด

 

การแก้ไขปัญหาการนอนกรนเบื้องต้น

 

หากพบว่าอาการนอนกรนไม่ได้อยู่ในระดับที่อันตรายสามารถแก้ไขอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้

 

  • ปรับเปลี่ยนท่านอนให้ศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว
  • รักษาน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน
  • งดการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ปรับการนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ง่วงนอน

 

อาการนอนกรนอาจเป็นปัญหาสุขภาพเพียงเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วกลับแฝงไปด้วยอันตรายด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรละเลยและควรเข้ารับการวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ