โรคพยาธิในช่องคลอด
โรคพยาธิในช่องคลอด ภัยร้ายที่เกิดจากเพศสัมพันธ์

 

โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ถ้าหากพบว่าติดเชื้อแล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะยังคงอยู่ภายในร่างกายและอาจติดต่อไปสู่คู่นอนได้

 

 

สาเหตุของโรคพยาธิในช่องคลอด

 

โรคพยาธิในช่องคลอด เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า "Trichomonas Vaginalis" โดยจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ ถ้าหากเป็นการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้นิ้วหรือมือในการช่วย จะยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ 

 

 

ลักษณะอาการของโรคพยาธิในช่องคลอด

 

  • มีตกขาวมากและสีผิดปกติ เช่น สีเหลือง, เทา, เขียว 

 

  • มีกลิ่นเหม็นออกมาจากอวัยวะเพศ

 

คันช่องคลอด

 

  • คัน, แสบ, บวม, แดง และมีการระคายเคืองบริเวณช่องคลอด

 

  • รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์หรือขณะปัสสาวะ

 

  • มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด

 

  • หากเป็นเพศชายจะมีอาการ เช่น แสบขณะปัสสาวะ, ปวดบริเวณอัณฑะ, อาจพบการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลาย หรือพบมูกใสไหลออกมาจากท่อปัสสาวะโดยที่ไม่ใช่น้ำอสุจิหรือปัสสาวะ เป็นต้น 

 

 

กลุ่มเสี่ยงของโรคพยาธิในช่องคลอด

 

  • ผู้ที่มีประวัติในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น หรือเคยเป็นโรคพยาธิในช่องคลอดมาก่อน 

 

  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย 

 

 

  • ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ

 

 

การวินิจฉัยโรคพยาธิในช่องคลอด

 

แพทย์จะทำการซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย จากนั้นจะมีการตรวจภายในเพื่อประเมินอาการ และอาจมีการเก็บตัวอย่างของตกขาวส่งตรวจเพิ่มเติมที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินเชื้อพยาธิที่อยู่ภายในช่องคลอด

 


การรักษาโรคพยาธิในช่องคลอด

 

รับประทานยาปฏิชีวนะ

 

การรับประทานยาปฏิชีวนะ "เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)" ที่มีจำนวน 4-5 เม็ด โดยมักรับประทานครั้งเดียว ถ้าหากยาไม่ตอบสนอง แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาเพิ่มเติมโดยการให้ผู้ป่วยทานยาเป็นจำนวน 7 วัน ฤทธิ์ของตัวยาอาจมีผลข้างเคียง เช่น จะมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนมาก ถ้าเกิดการอาเจียนเอาตัวยาออกมา ควรจะมารับยาใหม่และต้องรับประทานยาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อรับประทานยา คือ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะรับประทานยา จนถึงเมื่อรับประทานยาเม็ดสุดท้ายหมดไปแล้วเป็นเวลา 24 ชั่วโมง 

 


โรคพยาธิในช่องคลอดสามารถป้องกันได้อย่างไร?

 

สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง

 

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง

 

  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย 

 

  • รักษาความสะอาดอวัยวะเพศและพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 

 

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาโรคหายขาดแล้ว เพราะถึงแม้จะรับประทานยาครบตามกำหนด แต่อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

 

  • หากมีอาการต้องสงสัยเข้าข่ายโรคพยาธิในช่องคลอด ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที 

 

 

การดูแลสุขภาพทางเพศอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดได้ หากมีอาการเข้าข่ายหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคพยาธิในช่องคลอด ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรึกษา, รับคำแนะนำ และรักษาอย่างเหมาะสม



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

สูตินรีเวช

 

โปรแกรมตรวจโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

 

One Night Stand ความสัมพันธ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย