ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคหัวใจ
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคหัวใจ

โรคหัวใจอันตรายกว่าที่เราคิด และแน่นอนว่าไม่มีใครต้องการที่จะเป็นโรคร้ายนี้อย่างแน่นอน แต่เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้การดูแล และการปฏิบัติตนเพื่อไม่ให้อาการกำเริบ หรือเป็นหนักกว่าเดิมทั้งอาหารการกิน การออกกำลังกายที่ไม่มากเกินไป และเรื่องที่เราต้องควบคุมตนเองในด้านต่าง ๆ  ทั้งหมดนี้เราต้องจริงจังมากกว่าเดิม เพื่อรักษา “หัวใจ” ของเราเอาไว้ให้ได้นานที่สุด

 

อาหารที่ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยง

 

ในความเป็นจริงนั้นอาหารที่เราทานอยู่ในชีวิตประจำวันส่วนมากก็มีไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งเป็นผลเสียต่อหัวใจ เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าหากเป็นโรคหัวใจเราต้องหลีกเลี่ยงอาหารชนิดใดเพิ่มอีกบ้าง

 

  • อาหารที่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์เกือบทุกประเภท นอกจากนี้ยังต้องเลี่ยงอาหาร Fast Food เพราะไขมันจากอาหารเหล่านี้จะเกิดการสะสมที่เส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติตามไปด้วย เป็นผลให้เกิดความเสี่ยงภาวะ และโรคต่าง ๆ เช่น เส้นเลือดสมองตีบทำให้เกิดอัมพาตต่อไปได้
  • อาหารรสจัด (เค็มจัด หวานจัด) ได้แก่ อาหารหมักดอง ส่วนประกอบอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ผงชูรส นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเครื่องดื่ม และผลไม้ที่มีรสหวานมากจนเกินไป ตัวอย่างเช่น ลำไยหรือขนุน เป็นต้น
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื่องจากสารคาเฟอีนจะส่งผลต่อการเต้นหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการใจสั่น และเสี่ยงความดันโลหิตสูง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ น้ำอัดลมทุกชนิด ชา และกาแฟ

 

อยากให้หัวใจแข็งแรงต้องกินอะไร

 

พอได้เห็นอาหารที่ห้ามไปแล้ว เราก็อาจรู้สึกว่าแล้วมีอะไรบ้างที่เราทานได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีอาหารอีกหลายประเภทที่เหมาะกับคนเป็นโรคหัวใจ และยังมีส่วนช่วยบำรุงหัวใจด้วย ได้แก่

 

  • อาหารที่มีไขมันต่ำ พบได้ในเนื้อปลา เนื้อไก่ รวมไปถึงนม และไข่ หากต้องการรับประทานนมควรเลือกนมที่มีส่วนผสมของธัญพืช หรือนมพร่องมันเนยก็ได้
  • ข้าวที่ไม่เอารำข้าวออก เนื่องจากมีส่วนประกอบของเกลือแร่ และกากใยอาหารผสมอยู่ด้วย สามารถเลือกทานได้จากข้าวโอ๊ต หรือข้าวซ้อมมือ เป็นต้น
  • ผักผลไม้ เกือบทุกโรคที่เรารู้จักต้องมีคำแนะนำให้ทานผักผลไม้อยู่แล้ว โดยต้องเลือกทานแบบสด และงดรับประทานผลไม้กระป๋อง และมะพร้าว

 

จากที่กล่าวมาการทานอาหารนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับสารอาหารที่จำกัดอยู่ในแต่ละวันตามเพศ และวัยด้วย เช่น ผู้ชายวัยทำงานต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี ส่วนผู้หญิงวัยทำงานต้องการพลังงานในแต่ละวันเพียง 1,600 กิโลแคลอรีเท่านั้น

 

อาหารต้านโรคหัวใจ

 

การควบคุมคือทุกสิ่งของหัวใจ

 

หากเป็นโรคหัวใจแน่นอนว่าเราจะต้องมีการควบคุมบางอย่างทั้งทางร่างกาย และจิตใจเพื่อป้องกันความเสียหาย หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจ ดังนี้

 

  • ควบคุมร่างกาย โดยไม่ให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ควบคุมความดันโลหิต และไขมันในเลือด ผ่านการดูแลตนเองทั้งอาหารการกินจากที่กล่าวไป และการออกกำลังกายที่ไม่โหมหนักจนเกินไป
  • ควบคุมระดับความเครียด ควบคุมอารมณ์ตนเองพยายามไม่ให้เครียดจนเกินไป เพราะจะมีผลกับการทำงานของร่างกาย โดยพยายามหากิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลายอยู่เสมอ ๆ
  • ควบคุมวินัย หลังจากที่เข้าพบแพทย์แล้วได้รับยา หรือข้อห้ามต่าง ๆ ในการปฏิบัติตัว เราก็ควรทำตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบขึ้นมาหนักกว่าเดิม

 

ควบคุมโรคหัวใจ

 

ขยับร่างกายให้หัวใจแข็งแรง

 

การออกกำลังกายเพื่อบริหารหัวใจให้แข็งแรงนั้นไม่ใช่การออกกำลังอย่างหนักเพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจ แต่การบริหารหัวใจให้ดีที่สุดคือการออกกำลังกายที่เน้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เป็นต้น โดยมีข้อกำหนดดังนี้

 

  • ออกกำลังกายให้ได้สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างต่ำ
  • การออกกำลังกายแต่ละครั้งควรต่อเนื่องประมาณ 20-30 นาที

 

ออกกำลังกายต้านโรคหัวใจ

 

จากทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้เรียนรู้การดูแลตนเองในทุก ๆ ด้านเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม และคอยมอบรอยยิ้มให้กับคนรอบข้างอย่างมั่นคงที่สุดต่อไป

 

____________________________________
 

 

ศูนย์หัวใจ