เด็กกับพฤติกรรมเลียนแบบ
เด็กกับพฤติกรรมเลียนแบบ

“เด็ก” เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ หรือเพื่อนต่างก็มีอิทธิพลต่อเด็กด้วยกันทั้งนั้น สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กจึงมีส่วนสำคัญต่อความคิดและพฤติกรรมของเด็ก โดยการแสดงออกของเด็กส่วนใหญ่จะมีที่มาจากการ “เลียนแบบ” ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้อาจส่งผลดี หรือผลเสียต่อเด็กในระยะยาวได้

 

พฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก

 

พฤติกรรมการเลียนแบบจะสามารถอธิบายตามแนวคิดและทฤษฎีจิตวิทยาของบันดูราได้ว่า การเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากนั้นเป็นการสังเกตจนเกิดการเลียนแบบเพราะมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเด็กจะเห็นพ่อ แม่ เพื่อน หรือแม้กระทั่งบุคคลจากสื่อต่าง ๆ ทำพฤติกรรมเช่นใด เด็กจะซึมซับพฤติกรรมนั้นมา เช่น เด็กผู้ชายเห็นแม่ทาลิปสติก และสวมรองเท้าส้นสูง เด็กจะเกิดการเรียนรู้และเริ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบแม่ โดยการนำลิปสติกมาทาที่ปากและสวมรองเท้าส้นสูงของแม่ ทั้ง ๆ ที่พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่กิจวัตรของผู้ชาย เพราะเด็กยังไร้เดียงสาจึงไม่เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใหญ่

 

 

พฤติกรรมที่อาจส่งผลเสียแก่เด็ก

 

  • พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมนี้มักเลียนแบบมาจากครอบครัวที่มีความรุนแรงทั้งการทะเลาะ หรือการดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายต่อกัน หากเด็กเห็นจะเกิดการซึมซับและมองว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
     
  • พฤติกรรมการสนใจสื่อที่มีความรุนแรง เมื่อเด็กมีอายุน้อย และเข้าถึงสื่อออนไลน์เร็วเกินไป โดยผู้ปกครองต้องการเพียงให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ โดยไม่ได้นึกถึงผลที่ตามมา ทำให้เด็กรับสื่อที่มีความรุนแรงมากเกินไปและแยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งไหนไม่ควรทำ รวมถึงความใจร้อนไม่สามารถรอคอยเวลาได้
     
  • พฤติกรรมการลักขโมย เด็กเลียนแบบผู้ปกครองหรือคนในบ้านที่หยิบสิ่งของผู้อื่นมาใช้แล้วไม่คืน การกระทำเช่นนี้มีผลให้เด็กมองว่าเป็นเรื่องปกติด้วยเช่นกัน
     
  • พฤติกรรมการโกหก เกิดจากการล้อเลียนหรือหยอกล้อ แกล้งคนรอบตัวไม่ใช่แค่คนในครอบครัวแต่รวมถึงสังคมเพื่อนด้วย หากไม่มีการอธิบายให้เด็กฟังว่าทำไมถึงโกหก เด็กจะเข้าใจว่าการพูดโกหกไม่ใช่สิ่งที่ผิด และอาจติดเป็นนิสัยได้
     
  • พฤติกรรมการใช้สิ่งเสพติด หากเด็กได้เห็นพฤติกรรมของคนรอบข้างที่ใช้สารเสพติด หรือสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ก็สามารถส่งต่อพฤติกรรมมาสู่เด็กได้ทำให้เด็กเลียนแบบและส่งผลเสียทำให้ติดสารเสพติดในเวลาต่อมา

 

การแก้ไขพฤติกรรมเลียนแบบที่ส่งผลเสียกับเด็ก

 

การแก้ไขพฤติกรรมที่เด็กเลียนแบบจนกลายเป็นนิสัยถือว่าทำได้ยาก ด้วยการอธิบายพูดคุยถึงความไม่เหมาะสมของพฤติกรรมและชี้นำแนวทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังคงต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ถ้าหากเด็กมีพฤติกรรมรุนแรงเกินเยียวยาได้ อาจต้องถึงขั้นพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำต่อไป ดังนั้นหากการแก้ปัญหาทำได้ยากการป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบจึงเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า เช่น
 

  • ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก เช่น การไหว้ การขอโทษ อย่าบังคับให้เด็กทำอย่างเดียว
  • การชมเชยเมื่อเด็กทำความดี
  • การระมัดระวังพฤติกรรมที่แสดงออกตอนมีเด็กอยู่ใกล้ ๆ เช่น อารมณ์โกรธ หรือคำหยาบ เป็นต้น
     

สิ่งสำคัญนอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองควรระมัดระวังนั่นคือ สื่อออนไลน์ที่เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา การปล่อยให้เด็กอยู่กับสิ่งเหล่านี้โดยไม่มีคนคอยแนะนำจะส่งผลให้เด็กเกิดการเลียนแบบในสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้เช่นกัน

____________________________________
 

พูดคุยกับเรา :  LINE คลิก