Shopaholic โรคเสพติดการชอปปิง
Shopaholic โรคเสพติดการชอปปิง

ในยุคที่การซื้อขายเป็นไปได้ง่ายเพียงคลิกเดียว คนจึงมีพฤติกรรมชื่นชอบการชอปปิงออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงต้นเดือน หรือเงินเดือนออก เรามักจะรีบเข้าแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์เพื่อซื้อของที่อยากได้ หรือคิดว่าจำเป็นต่อการใช้ชีวิต ยิ่งเห็นสิ่งเร้า เช่น ป้าย sale หรือโปรโมชั่นลดราคาจะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตอบสนอง แต่ชาว shopping lover ทั้งหลายอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเข้าข่ายเป็น Shopaholic หรือโรคเสพติดการชอปปิง ดังนั้นเรามารู้จักโรคนี้ และมาเช็กอาการกันว่าเรากำลังเข้าข่ายเป็นโรค Shopaholic หรือไม่

 

ทำความรู้จักกับโรค “Shopaholic”

 

Shopaholic เป็นโรคทางจิตใช้เรียกบุคคลที่มีการใช้จ่ายเงินในการซื้อของ หรือชอปปิงเกินตัวจนทำให้เกิดปัญหาตามมา คนในกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมชอบชอปปิงเป็นชีวิตจิตใจ จะรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้จับจ่ายซื้อของ โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็น รู้สึกอ่อนไหวง่ายกับเรื่องชอปปิง หมกมุ่นกับการชอปปิง เมื่อเห็นของลดราคา คนพวกนี้จะสวมวิญญาณสัตว์ล่าเนื้อวิ่งเข้าตะครุบเหยื่อทันที ซึ่งการกระทำดังกล่าวมักส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินไปจนถึงปัญหาครอบครัว โดยผู้หญิงมักเสี่ยงต่อพฤติกรรมดังกล่าวได้มากกว่าผู้ชาย แต่ใช่ว่าผู้ชายจะไม่เป็นโรคนี้ เพราะสินค้าต่าง ๆ ไม่ได้ผลิตมาเพื่อผู้หญิงเพียงอย่างเดียว

 

Shopaholic เกิดจากอะไร

 

สาเหตุของโรค Shopaholic นั้นมีหลายประการ โดยอาจมาจากตัวบุคคลเอง และอาจมาจากสิ่งเร้าภายนอก ดังนี้
 

  • ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยอาจมีความวิตกกังวล เกิดภาวะเครียดจึงต้องชอปปิงเพื่อคลายเครียด หรือหาทางระบายอารมณ์ด้วยการชอปปิง
     
  • ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง ผู้ป่วยอาจต้องการสร้างตัวตนเพื่อให้เกิดการยอมรับในการเข้าสังคม เช่น การแต่งตัวตามแฟชั่นเพื่อให้ตัวเองดูดี ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม ซื้อเสื้อผ้าราคาแพงเพื่อให้เหนือกว่าคนอื่น เป็นต้น
     
  • สื่อโฆษณา การได้เห็นสินค้าที่สนใจบ่อยครั้งในอินเทอร์เน็ต หรือเห็นรีวิวตามช่องทางต่าง ๆ อาจทำให้เกิดความอยากได้ และตัดสินใจซื้อในที่สุด
     
  • ความสะดวกในการซื้อ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์มากมายทำให้เอื้ออำนวยต่อการซื้อขาย เพียงแค่สมัครสมาชิกเหล่านักชอปจะสามารถเลือกของลงตะกร้า และรอสินค้ามาส่งถึงหน้าประตูบ้านได้เลย ความสะดวกสบายในการซื้อนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสพติดชอปปิงได้

 

เช็กอาการ Shopaholic

 

สามารถสังเกตอาการของ Shopaholic ได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
 

  • ซื้อของเป็นประจำทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
     
  • คิดว่าการชอปปิงคือกิจกรรมคลายเครียด และมีความรู้สึกตื่นเต้น หรือมีความสุขอย่างมากหลังได้ชอปปิง
     
  • ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน และเปิดใบใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ชำระหนี้ของบัตรใบเก่า
     
  • ซื้อของโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นจึงทำให้มีของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
     
  • โกหก หรือลักขโมยเพื่อให้ได้ชอปปิงต่อ
     
  • แม้จะรู้สึกผิดหลังได้ชอปปิง แต่จะยังคงทำต่อไป เพราะไม่สามารถควบคุม และยับยั้งพฤติกรรมการชอปปิงของตนเองได้

 

ผลกระทบจาก Shopaholic

 

พฤติกรรม Shopaholic เสพติดการชอปปิงโดยที่ไม่คำนึงรายรับ-รายจ่ายของตนเอง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น
 

  • ชอปสนุกแต่ทุกข์เมื่อต้องจ่าย พฤติกรรมเสพติดการชอปปิงที่เกินตัวอาจทำให้เกิดการหยิบยืม หรือกู้ยืมเงินเพื่อมาจ่ายค่าสิ่งของที่เราซื้อไป ส่งผลให้เกิดภาระหนี้สินเพิ่มพูนมากขึ้น
     
  • ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เพราะต้องโกหกว่าของที่ซื้อมานั้นมีคนให้มา หรือซื้อในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง เมื่อคนใกล้ชิดรู้ความจริงอาจส่งผลให้สูญเสียความเชื่อใจจากคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด
     
  • สุขภาพจิตเสื่อม หากมีหนี้สินแล้วไม่สามารถจัดการกับหนี้สินได้ย่อมส่งผลให้เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า เมื่อหาทางออกของปัญหาไม่ได้อาจถึงขั้นก่อเหตุอาชญากรรม ซึ่งนำไปสู่การจับกุมและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

แก้นิสัย Shopaholic อย่างไร

 

  • คำนึงถึงความจำเป็น ก่อนจะซื้ออะไรควรคิดถึงว่าซื้อแล้วได้ใช้หรือไม่ และต้องมั่นใจว่าไม่ได้ซื้อของซ้ำ ไม่ซื้อของตามความอยากได้ของตัวเอง
     
  • ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ช่วยวางแผนการใช้จ่ายเงิน และยังเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้กับตัวเองอีกด้วย
     
  • จัดการอารมณ์ตนเอง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับการรับรู้ และจัดการอารมณ์เพื่อรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของตนเอง

 

Shopaholic เป็นภาวะทางจิตที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบว่าตนเอง หรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็น Shopaholic ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม และเพื่อป้องกันอาการรุนแรง หรือผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจตามมา