โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) ความผิดปกติทางเส้นประสาทที่ไม่ควรปล่อยผ่าน
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) ความผิดปกติทางเส้นประสาทที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

การแสดงออกทางใบหน้า เป็นการบ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ทั้งการยักคิ้ว การขยิบตา หรือการเบ้ปาก แต่หากเราไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Bell’s palsy ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของเส้นประสาท และเป็นโรคอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า

 

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) คืออะไร

 

ภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ โดยมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทบนใบหน้า หรือเส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve) คู่ที่ 7 ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าเกิดความผิดปกติ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริม (Herpes simplex virus) งูสวัด (Herpes zoster) ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลงจะทำให้เกิดโรคนี้ได้

 

อาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นอย่างไร

 

อาการของโรคนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และรุนแรงภายใน 48 ชั่วโมง โดยจะมีอาการ ดังนี้

  • มีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ใบหน้าชา
     
  • ไม่สามารถยักคิ้วได้ ตาปิดไม่สนิท หนังตา และมุมปากตก รับประทานน้ำแล้วไหลออกมาจากมุมปาก
     
  • บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณหลังใบหู  
     
  • มีอาการระคายเคืองที่ตา รู้สึกตาแห้ง หรือมีน้ำตาไหล
     
  • รับรสชาติได้น้อยลง

 

หากเป็นโรคหน้าเบี้ยวแล้วจะกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือไม่

 

โรคหน้าเบี้ยวกับโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้นเป็นคนละโรคกัน โดยโรคหน้าเบี้ยวจะเกิดความผิดปกติขึ้นที่เส้นประสาท แต่โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมองจะเกิดความผิดปกติขึ้นที่เนื้อสมอง แม้จะมีอาการหน้าเบี้ยวเหมือนกัน แต่โรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แขนและขาอ่อนแรง มีอาการชาตามแขน เป็นต้น

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

 

  • หญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย และหลังคลอดบุตร
     
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
     
  • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
     
  • ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง
     
  • ผู้ที่มีภาวะเครียดสูง ทำงานหนัก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

 

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

 

STEPS ทดสอบโรคหน้าเบี้ยวด้วยตนเอง

 

  • ยักคิ้วขึ้น 2 ข้าง : คิ้วต้องสูงเท่ากัน หรือหากต่างกันเพียงเล็กน้อย
     
  • ปิดตาทั้ง 2 ข้าง : ตาทั้งสองข้างต้องปิดสนิท
     
  • ยิ้มกว้าง : ยิ้มเท่ากันทั้งสองข้าง

 

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นแล้วรักษาได้หรือไม่

 

โรคนี้จะดีขึ้น และสามารถหายได้เองโดยใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน หากไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสหายเป็นปกติประมาณ 65 % แต่หากได้รับการรักษาจะมีโอกาสหายเป็นปกติสูงถึง 97 % โดยโรคนี้จะมีวิธีการรักษา ดังนี้
 

  • ใช้ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท ควรเริ่มใช้หลังจากเกิดอาการภายใน 72 ชั่วโมง โดยจะต้องรับประทานประมาณ 2 สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และจะมีการปรับยาตามที่แพทย์แนะนำ
     
  • ใช้ยาฆ่าเชื้อไวรัส จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม และงูสวัด
     

 

การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการ

 

  • ใช้ยาหยอดตา เพื่อป้องกันตาแห้ง และใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตา แล้วใช้ผ้าปิดตาให้สนิทก่อนนอน เพื่อป้องกันการเกิดเยื่อบุตาอักเสบ
     
  • สวมแว่นตา เมื่อต้องออกนอกบ้านเพื่อป้องกันลม และฝุ่นละอองเข้าตา
     
  • ทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นประจำ
     
  • ประคบอุ่น โดยนำผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบใบหน้าเพื่อบรรเทาอาการปวด

 

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกแม้จะสามารถหายเองได้ แต่หากปล่อยไว้นานจะทำให้กลับมาเป็นปกติได้น้อย ดังนั้นหากพบว่าตนเอง หรือคนในครอบครัวมีอาการควรรีบพาเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง

 

 

____________________________________

 


ศูนย์สมองและระบบประสาท

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI