Hypertension
Hypertension

ปัญหาสุขภาพที่คน ๆ หนึ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นได้มีหลายโรคเนื่องจากปัจจัยรอบตัวที่เต็มไปด้วยมลพิษและเชื้อโรคที่มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบหายใจหรือโรคติดเชื้อ แต่หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าหนึ่งในโรคที่ทุกคนควรระวังและมีโอกาสเป็นทุกยุคทุกสมัยโดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับมลภาวะรอบตัวนั่นคือ “โรคความดันโลหิต” ที่มีทั้งความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตต่ำ และด้วยความเสี่ยงที่สามารถเป็นได้ทุกช่วงวัยเราจึงควรศึกษาข้อมูลของโรคนี้ก่อนจะสายเกินไป

 

ความดันโลหิตคืออะไร

 

ความดันโลหิตเป็นค่าความดันของกระแสเลือดที่ส่งแรงกระทบกับผนังหลอดเลือดแดง โดยเกิดขึ้นจากการกระบวนการสูบฉีดเลือดของหัวใจ โดยสามารถวัดความดันโลหิตได้ 2 ค่า คือ ค่าความดันช่วงบนจากการบีบตัวของหัวใจ และค่าความดันช่วงล่างจากการคลายตัวของหัวใจ ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากค่าความดันโลหิตคือความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำ โดยเราสามารถตรวจหาอาการดังกล่าวได้ด้วยการวัดค่าความดันโลหิต

 

 

การเตรียมตัวเพื่อวัดความดันโลหิต

 

  • ก่อนวัดความดันโลหิต 30 นาที ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ กาแฟ ไม่ผ่านการออกกำลังกาย และไม่มีภาวะทางอารมณ์ เช่น โมโห โกรธ เครียด เป็นต้น
     
  • พักก่อนทำการตรวจวัดความดันเป็นเวลา 5-15 นาที
     
  • ควรปัสสาวะก่อนทำการวัดความดัน
     
  • ไม่ควรพูดคุยมากเกินไปในขณะที่ทำการวัดความดัน

 

ความดันโลหิต

 

ความดันโลหิตต่ำ

 

เป็นภาวะที่ความดันเลือดซิสโตลิกต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ทั้งหญิงชาย ไม่ว่าอายุเท่าใดก็สามารถเป็นได้ ส่วนมากจะมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีน วิตามินซีทำให้ผนังหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรง จนเกิดการคลายตัวมากเกินไป โดยภาวะนี้จะมีทั้งที่สามารถหายเองได้กับต้องได้รับการรักษา

 

อาการของความดันโลหิตต่ำ

 

ปกติแล้วความดันโลหิตต่ำจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากอยู่ในภาวะที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นชั่วคราว ดังนี้

  • เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมกะทันหัน
  • ใจเต้นแรง ใจสั่น
  • ตาพร่าเบลอ
  • คลื่นไส้
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • กระหายน้ำ

นอกจากนี้ยังมีอาการหน้ามืดเมื่อมีการเปลี่ยนท่านั่ง หรือท่ายืนกะทันหัน ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการป้องกันได้ด้วยการยกศีรษะสูงขณะนอน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการแย่ลง เช่น การนอนนาน ๆ การลุก หรือนั่งอย่างรวดเร็ว การอาบน้ำอุ่นจัด เป็นต้น

 

การดูแลร่างกายเมื่อความดันโลหิตต่ำ

 

  • หากมีอาการควรนั่งพัก หรือนอนลงทันทีโดยพยายามยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง
     
  • หลีกเลี่ยงการยืน หรือนั่งนาน ๆ
     
  • หลีกเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในเวลากลางคืน และพยายามลดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
     
  • เคลื่อนไหว หรือออกกำลังกายในช่วงเช้าเพื่อกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นการไขว้ขา หรือบิดตัว เป็นต้น
     
  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึก เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลง

 

ความดันโลหิตสูงคืออะไร

 

โดยปกติแล้วหากวัดค่าความดันโลหิตคนปกติจะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งวัดจากการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ (ความดันช่วงบนและช่วงล่าง) แต่หากวัดแล้วได้ค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปถือว่ามีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง โดยหากต้องการความแน่นอนมากขึ้นควรวัดเพิ่มอีกหลังได้ค่าความดันโลหิตสูงอาทิตย์ละ 1 ครั้ง อีกประมาณ 2 หรือ 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ค่าความดันที่สูงอาจไม่ได้หมายถึงการเป็นความดันโลหิตสูงเสมอไปเพราะสามารถเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีภาวะทางอารมณ์ การออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีคาเฟอีน เป็นต้น โดยผู้ป่วยที่เพิ่งเคยเป็นจะมีอาการเวียนศีรษะ ตึงต้นคอ ซึ่งส่วนมากจะเป็นในช่วงตื่นนอน แต่สำหรับคนที่เป็นความดันโลหิตสูงมาเป็นเวลานานจะมีอาการใจสั่น อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว หรืออาจมีเลือดกำเดาไหลร่วมด้วย

 

สาเหตุของการเกิดความดันโลหิตสูง

 

โดยปกติผู้ที่มีอาการความดันโลหิตสูงมักจะตรวจไม่พบสาเหตุ แต่หากมีการตรวจพบมักมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคไต หลอดเลือดแดงตีบ หลอดเลือดไตตีบ เกิดเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดจากพฤติกรรมหรือสาเหตุเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย การเป็นโรค เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และพันธุกรรม เป็นต้น

 

เป็นความดันโลหิตสูงแล้วต้องทำอย่างไร

 

  • บริโภคอาหารที่มีประโยชน์และมีผลดีต่อความดันโลหิต คือทานผักผลไม้ ธัญพืช และลดทานเนื้อสัตว์ น้ำตาล ของหวาน และอาหารที่มีรสเค็ม
     
  • งดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
     
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
     
  • ดูแลสุขภาพจิตของตนเองไม่ให้เครียดมากจนเกินไป

 

การป้องกันและดูแลตนเองเมื่อเกิดความดันโลหิตสูง

 

  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
     
  • ยาที่ผู้ป่วยรับประทานอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้
     
  • ควบคุม และจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์
     
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของหมัก ของดอง เช่น กุ้งแห้ง ผักกาดดอง ปลาหมึกแห้ง ปลาร้า หอยดอง เพราะอาหารเหล่านี้มักจะมีปริมาณของโซเดียมเยอะ
     
  • ดูแล และรักษาสุขภาพจิตให้เป็นปกติ พยายามผ่อนคลาย ไม่เครียด มองโลกในแง่ดี หมั่นบริหารสุขภาพจิตอยู่เสมอ เช่น การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ ร้องเพลง หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ได้
     
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

 

ความดันโลหิตเป็นภาวะที่สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย และสามารถหายเองได้ แต่หากเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคเพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้

 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง