เคยมีปัญหาเกี่ยวกับบทสนทนาระหว่างคุณ และคู่สนทนาหรือไม่ ปัญหาไม่ได้เกี่ยวกับคำพูด, บทสนทนา หรือการกระทำ แต่เป็นกลิ่น และลมหายใจที่ลอยออกมาแล้วแตะที่จมูกของคุณ ซึ่งเป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์อย่างมาก แต่ไม่ใช่จะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นเพียงอย่างเดียว คุณเองอาจเคยรู้สึกว่าตนเองมีกลิ่นปากเช่นกัน มาดูกันดีกว่าว่ากลิ่นปากเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีวิธีการแก้ไขแบบใดบ้างมาดูกัน
สาเหตุของกลิ่นปาก สามารถเกิดได้จากทั้งภายใน และภายนอกช่องปาก ดังนี้
ภายในช่องปาก
ฟันผุ
เนื่องจากมีเศษอาหารสะสมอยู่ในรูฟัน, เกิดหนองขึ้นที่ปลายราก หรือฟันที่ทะลุโพรงประสาท เป็นต้น ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากฟันผุ
แผลภายในช่องปาก
เช่น ร้อนใน, แผลที่เกิดจากการผ่าตัดในช่องปาก และหลังการถอนฟัน
ผู้ที่ใส่เครื่องมือรักษาฟันภายในช่องปาก
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือกันฟันล้ม, เครื่องมือจัดฟัน แล้วผู้ป่วยมีการรักษาความสะอาดไม่ดี และไม่ทั่วถึง อาจทำให้เป็นสาเหตุของการมีกลิ่นปากได้
โรคปริทันต์ หรือเหงือกอักเสบ
เพราะมีหินปูนกับคราบจุลินทรีย์สะสมภายในช่องปากเป็นจำนวนมาก
ลิ้น
บริเวณโคนลิ้นด้านในสุด จะมีน้ำเมือกในช่องจมูกไหลลงไปที่บริเวณคอ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากอาการภูมิแพ้ได้ โดยในช่วงแรกจะไม่ทำให้เกิดกลิ่นปาก แต่เมื่อผ่านไปเป็นระยะเวลา 2-3 วัน แบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากจะย่อยน้ำเมือก และทำให้เกิดกลิ่นปากขึ้นมาได้
น้ำลาย
หากภายในช่องปากมีน้ำลายหลั่งออกมาเยอะ ช่องปากของบุคคลนั้นจะสะอาดกว่าบุคคลที่มีน้ำลายหลั่งออกมาน้อย เพราะโดยปกติแล้วน้ำลายจะเป็นตัวช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกภายในช่องปากออก และลดการเน่าบูดของอาหารที่อาจทำให้เกิดกลิ่นปากขึ้นมาได้ แต่บางครั้งที่ผู้ป่วยนอนหลับ, ดื่มน้ำไม่เพียงพอ, อากาศร้อน หรือใช้เสียงมาก อาจจะส่งผลให้น้ำลายหลั่งออกมาได้น้อย และทำให้มีกลิ่นปากเช่นกัน อาจเรียกเป็นคำปกติ คือ น้ำลายบูด
ภายนอกช่องปาก
การรับประทานอาหาร
อาหารบางชนิด เช่น เครื่องเทศ, กระเทียม, สะตอ, หัวหอม หรือการดื่มแอลกอฮอล์ อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดกลิ่นปากขึ้นได้ แต่โดยปกติแล้วอาหารจำพวกนี้หากถูกย่อยซึม และมีการขับถ่ายออกมา กลิ่นปากอาจจะหายไปเอง
การสูบบุหรี่
บุหรี่นอกจากจะเป็นอันตราย และมลพิษให้บุคคลรอบข้างแล้ว ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูบอาจเกิดโรคปริทันต์ที่รุนแรงขึ้นได้อีกด้วย ส่วนกลิ่นของบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ภายในช่องปาก และไปผสมกับกลิ่นอื่น จะส่งผลให้มีกลิ่นปากเฉพาะของผู้ที่สูบบุหรี่ขึ้นได้
โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ทอนซิลอักเสบ, นิ่วในต่อมทอนซิล, ไซนัสอักเสบ และมะเร็งที่โพรงจมูก
โรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น วัณโรค หรือมะเร็งปอด, โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
ผู้ป่วยสามารถทดสอบกลิ่นปากของตนเองได้ โดยการนำมือปิดปาก และจมูก จากนั้นให้เป่าลมแรง ๆ ออกจากช่องปาก และให้ทำการดม หรืออาจจะใช้วิธีการถามบุคคลใกล้ชิดได้
ทันตแพทย์จะรักษาตามสาเหตุของการทำให้เกิดกลิ่นปาก เช่น รักษาโรคปริทันต์ หรือเหงือกอักเสบ, อุดฟันผุ จากนั้นจะทำการแนะนำวิธีการทำความสะอาดเครื่องมือที่ใช้ภายในช่องปาก ถ้าหากพบว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากภายในช่องปาก ทันตแพทย์อาจแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุของกลิ่นเพิ่มเติม หากผู้ป่วยใช้สเปรย์ และน้ำยาบ้วนปากที่ช่วยดับกลิ่น อาจทำให้กลิ่นปากลดลงเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวช่วยให้กำจัดสาเหตุหลัก ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราในช่องปากได้
พยายามอย่าให้ปากแห้ง การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน จะช่วยลดความเข้มข้นของแบคทีเรีย และช่วยให้กลิ่นปากเบาบางลง
ดูแลความสะอาดภายในช่องปาก โดยแปรงฟัน และลิ้นให้ทั่วถึง ควรใช้ไหมขัดฟันควบคู่ด้วยได้
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดกลิ่นปากขึ้น
เลิกสูบบุหรี่ นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดอัตราการเกิดโรคปริทันต์ที่รุนแรงได้
เข้าพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ
ทุกท่านควรหันมาดูแลสุขภาพของช่องปากกันให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อไม่ให้เกิดโรค หรืออาการแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้น ควรเข้าพบทันตแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อเป็นการตรวจเช็ค และป้องกันปัญหาภายในช่องปากอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
โรคฟัน และโรคในช่องปากสำหรับผู้สูงอายุ