หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้อง หรือการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง (MIS) ว่าเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในการผ่าตัด แต่อาจยังไม่ทราบถึงการผ่าตัดวิธีนี้นายแพทย์ภูวสิษฏ์ ตรีจักรสังข์ ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลเพชรเวช จะมาให้ข้อมูลเรื่องการผ่าตัดส่องกล้องกันค่ะ
ผ่าตัดส่องกล้อง คือ
การผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Minimally Invasive Surgery – MIS เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ลดอาการเจ็บแผลและใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดแผล จึงช่วยให้ผู้รับการผ่าตัดจึงกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น เพราะใช้วิธีเจาะผิวหนังให้เป็นรูเล็ก ๆ เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดในบริเวณที่จะรักษาโดยไม่ต้องเปิดแผลขนาดใหญ่
สำหรับหัวใจสำคัญของการผ่าตัดส่องกล้องนั้น คุณหมอที่ดูแลต้องมีความเข้าใจกายวิภาคของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายและเข้าใจตัวโรค ทุกโรคอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป อย่างเช่น การเป็นนิ่วในถุงน้ำดีจะผ่าตัดก็ต่อเมื่อมีอาการ ดังนั้นหมอต้องมีความเข้าใจตัวโรคและตัวผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กัน
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง
การผ่าตัดผ่านกล้อง (MIS) : แผลเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวเร็ว คือคีย์หลักสำคัญของการผ่าตัดแบบ MIS เนื่องจากแค่เจาะผ่านกล้ามเนื้อแต่ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อ ร่างกายจึงรับรู้การบาดเจ็บที่น้อยกว่า โดยหลังผ่าตัดจะเริ่มรับประทานอาหารได้เร็วกว่า การฟื้นตัวของร่างกายจึงเกิดได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก แต่อาจมีการใช้จ่ายสูงกว่าเพราะต้องใช้เครื่องมือพิเศษ
ในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิด จะมีแผลใหญ่ ฟื้นตัวช้า เจ็บปวดมากกว่า และอาจเป็นที่กังวลสำหรับผู้หญิงในด้านความสวยงาม เพราะมีขนาดรอยแผลที่ใหญ่ หากต้องใส่ชุดที่โชว์สัดส่วนอาจทำให้ไม่มั่นใจได้ แต่อาจต้องใช้วิธีนี้หากคนไข้หรือโรคที่เป็นไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้
ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้อง
ปัจจุบันสามารถผ่าตัดส่องกล้องได้เกือบทุกโรค อย่างที่ทางโรงพยาบาลเพชรเวชทำการผ่าตัดแบบส่องกล้องโรคที่นิยมกัน ได้แก่ การผ่าตัดถุงน้ำดี ผ่าตัดไส้เลื่อน ผ่าตัดไส้ติ่ง และแทบจะทุกอวัยวะในช่องท้องก็ใช้การผ่าตัดส่องกล้องได้ เช่น กระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน ม้าม ไต ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ท่อน้ำดี ต่อมหมวกไต เป็นต้น
สำหรับการผ่าตัดจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทรวงอกและช่องท้อง แต่สภาวะโรคบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องส่องกล้องรักษาอาจจะรักษาโดยการให้ยาได้
ส่วนเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้ก็คือ
• คนไข้เคยผ่าตัดใหญ่ทั่วช่องท้องมาก่อน
• มีภาวะเลือดออกง่าย
• มีผังพืดเยอะ
• สูบบุหรี่จัด
• มีน้ำหนักตัวมากหรือมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง
สิ่งเหล่านี้อาจทำให้มีความเสี่ยงจากการดมยาสลบและการผ่าตัดส่องกล้อง แพทย์อาจจะแนะนำให้เปลี่ยนมาเป็นวิธีการผ่าตัดทางหน้าท้องหรือแบบเปิดแทน
สำหรับเรื่องความความเสี่ยงในการผ่าตัดนั้น โดยปกติส่วนมากทั้งการผ่าตัดส่องกล้องกับการผ่าตัดแบบเปิดก็ปลอดภัยทั้งคู่ แต่ในบางกรณีการผ่าตัดส่องกล้องก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบเปิดในการรักษา
ความแตกต่างในการผ่าตัดส่องกล้องในชาย – หญิง
การผ่าตัดส่องกล้องระหว่างเพศชาย – หญิง ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก นอกจากโรคทั่วไปแล้วก็มีโรคเฉพาะของผู้ชายและผู้หญิงที่ต่างกันด้วย
โรคที่พบมากในเพศหญิงและใช้การผ่าตัดส่องกล้องได้แก่ เนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซีสต์ในรังไข่ นิ้วถุงน้ำดี
ส่วนโรคที่พบมากในเพศชายและใช้การผ่าตัดส่องกล้องได้แก่ ไส้เลื่อน และโรคที่เกี่ยวกับต่อมลูกหมาก
การเตรียมตัวก่อน - หลังเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้อง
หากคนไข้มีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน หรืออายุมากกว่า 60 ปี จำเป็นต้องไปประเมินก่อนผ่าตัดกับแพทย์อายุรกรรมก่อน แต่ถ้าผู้ป่วยไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ หรือไม่ได้เข้าข่ายเบื้องต้น สามารถเจาะเลือดประเมินก่อนการผ่าตัดและเอกซเรย์ปอดได้
คำแนะนำก่อนการผ่าตัดผ่านกล้อง
• งดสูบบุหรี่-ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนผ่าตัด 2 สัปดาห์
• งดรับประทานยา(ยาประจำตัว) ก่อนผ่าตัด 7 วัน
• หากไม่สบบายหรือเป็นหวัดควรเลื่อนการผ่าตัดไปก่อน
• งดน้ำและอาหารเป็น 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
คำแนะนำหลังผ่าตัดผ่านกล้อง
• สัปดาห์แรกควรงดกิจกรรมหนัก หลังจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่กลับไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมปกติได้
• อาจจะมีอาการท้องอืดได้ แนะนำให้ทานอาหารอ่อนๆ หรืออาหารที่ย่อยง่าย
• หากมีไข้สูง หนาวสั่น อาเจียน ปัสสาวะลำบาก แผลแดงบวม ปวดมากขึ้น ควรรีบพบศัลยแพทย์ก่อนนัด
• แผลผ่าตัดส่องกล้อง เป็นแผลสะอาด โอกาสติดเชื้อมีน้อยมาก จึงไม่จำเป็นต้องล้างแผลทุกวัน
ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดส่องกล้อง
โดยทั่วไปหลังการผ่าตัดส่องกล้อง (MIS) อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนได้เหมือนกัน เช่น จำเป็นต้องใส่สายระบายออกจากห้องผ่าตัด หากมีผังพืดเยอะและอาจมีเลือดออกได้ทำให้ต้องใช้เวลาในการผ่าตัดนาน หรืออาจรู้สึกปวดรอบ ๆ รอยแผลและอาจมีอาการปวดไหล่ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับชนิดของยาแก้ปวดที่สามารถใช้ได้
ส่วนใหญ่แล้วจะฟื้นตัวได้เร็วหลังการผ่าตัดส่องกล้อง แต่การฟื้นตัวนั้นขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นอยู่ หรืออีกกรณีคือถ้ามีผังพืดเยอะ การผ่าตัดส่องกล้องอาจจะเป็นข้อห้ามหรือไม่สามารถที่จะทำให้สำเร็จได้ อาจจะต้องเปิดแผลผ่าตัดเข้าไปช่วยในการรักษา
เมื่ออ่านถึงตรงนี้คงทำให้คุณเข้าใจถึงวิธีการผ่าตัดส่องกล้องเพิ่มมากขึ้น และคลายความกังวลกับการผ่าตัดลงไปได้ เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาก้าวไกลอย่างต่อเนื่อง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้แผนกคลินิกศัลยกรรม โรงพยาบาลเพชรเวชได้เลยค่ะ
#ศัลยแพทย์ #โรงพยาบาลเพชรเวช #ผ่าตัดส่องกล้อง #premiumclinic #ประกันสังคม #โรงพยาบาลประกันสังคม #ส่องกล้อง